นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู รฟท. ว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้หารือร่วมกับนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เกี่ยวกับแผนฟื้นฟู รฟท. ซึ่งกระทรวงการคลังต้องการให้ รฟท.ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารพัฒนาทรัพย์สิน เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินและที่ดินที่ รฟท.มีทั้งหมด และกำหนดเป็นแผนการพัฒนาและรายได้ที่จะได้รับ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะได้มั่นใจว่าเมื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูให้กับ รฟท. แล้ว รฟท. จะมีความสามารถในการสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง และไม่ประสบปัญหาขาดทุนอีก ซึ่งเดิมแผนฟื้นฟูกำหนดเพียงแนวทางว่า รฟท. จะตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สิน และเดินรถ แต่ไม่ได้ระบุว่าบริษัทลูกจะสร้างรายได้ให้กับ รฟท.เท่าใด และแนวทางในการพัฒนาที่ดินจะสามารถสร้างรายได้ให้กับ รฟท.ได้มากน้อยเพียงใด
"เบื้องต้นผมมีความเห็นสอดคล้องกับกระทรวงการคลัง และจะได้เร่งรัด รฟท. ให้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อประเมินทรัพย์สิน ในการประชุมคณะกรรมการ รฟท. สัปดาห์หน้า และตามหลักการ แผนฟื้นฟูนั้น รฟท. ก็ไม่ต้องการประสบปัญหาขาดทุนเหมือนที่ผ่านมาอีก" นายถวัลย์รัฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ปรึกษาจะต้องศึกษาแนวทางพัฒนาที่ดินให้กับ รฟท.ในภาพรวม ส่วนที่ดินแปลงใดที่เป็นแปลงใหญ่ในตัวเมือง เช่น ที่ดินย่านพหลโยธิน รัชดา มักกะสัน หาดใหญ่ ขอนแก่น ก็ต้องพิจารณาทบทวนเป็นรายแปลงว่าจะพัฒนาอย่างไรเพื่อให้ รฟท. มีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินมากกว่าปัจจุบันที่มีรายได้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท
ด้านนายอิทธิพล ปภาวสิทธิ์ รองผู้ว่าการ รฟท. ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างการทยอยจัดทำร่างทีโออาร์เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาประเมินทรัพย์สิน และคำนวณอัตราค่าตอบแทน เพื่อให้รฟท.ได้รับประโยชน์สูงสุด และจะเสนอคณะกรรมการ รฟท. พิจารณาอนุมัติประกวดราคาต่อไป โดยที่ดินแปลงแรกที่จะจ้างบริษัทที่ปรึกษา คือ ที่ดินบริเวณกม.11 เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ และที่ดินติดแม่น้ำ เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 2-3 เดือน
ส่วนรายได้จากการบริหารทรัพย์สินในปีนี้นั้น คาดว่าจะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 1,100 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากผลตอบแทนการเช่าที่ดินบริเวณเซ็นทรัลลาดพร้าวจำนวน 600 ล้านบาท และเร็วๆนี้ รฟท.ยังจะมีรายได้เพิ่มจากการให้เช่าที่ดินที่หัวหิน และสงขลา มูลค่า 30-40 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการ รฟท.เพื่อพิจารณาอนุมัติสัญญเช่าต่อไป