โฆษกพาณิชย์ ยืนยันไม่มีนโยบายห้ามการใช้ซีแอลยาเพื่อแลกกับการให้ทางการสหรัฐปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ(พีดับบลิวแอล) ส่วนการทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขเพื่อชี้แจงถึงความคืบหน้าที่ทางการสหรัฐกำลังดำเนินการกับไทย และขอทราบนโยบายในเรื่องซีแอลเท่านั้น
"กระทรวง(พาณิชย์)มีความเห็นตรงกับกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้มีการใช้ซีแอลยาตามความเหมาะสม และตามความจำเป็น เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง โดยมีหลักการว่าการใช้ซีแอลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) กำหนดไว้ และจะต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ซึ่งกำกับดูแลกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่เคยประกาศ หรือมีนโยบายห้ามการบังคับใช้สิทธิผลิต หรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตร(ซีแอล) เพียงแต่มีท่าทีชัดเจนตามนโยบายของรัฐบาลกรณีหากจะประกาศใช้ซีแอลก็จะให้มีการปรึกษาหารือระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับเจ้าของสิทธิบัตรยา
ส่วนกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวถึงกระทรวงสาธารณสุขนั้น นายกฤษฎา กล่าวว่า เป็นการชี้แจงความคืบหน้าการพิจารณาสถานะประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้ามาตรา 301 พิเศษ และข้อเสนอของภาคเอกชนสหรัฐที่ได้ยื่นต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ(ยูเอสทีอาร์) ว่ามีความเห็นต่อการดำเนินการในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอย่างไร และมีข้อเสนอแนะอะไร ซึ่งมีทั้งข้อเสนอของอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และเจ้าของสิทธิ์รายอื่นๆ
โดยหนังสือดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ว่า ภาคเอกชนสหรัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยามีความเห็นว่าไทยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการใช้ซีแอล และยังมีปัญหาในเรื่องยาปลอม และเสนอให้ยูเอสทีอาร์ พิจารณาปรับไทยจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา(พีดับบลิวแอล) เป็นประเทศที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับรุนแรง(พีเอฟซี) กระทรวงพาณิชย์จึงได้ขอทราบแนวทางดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องนี้ เพื่อนำไปชี้แจงสหรัฐในการเดินทางไปสหรัฐของ รมช.พาณิชย์ ในเดือน มี.ค.นี้ ไม่ได้มีข้อความใดที่ระบุว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุขยกเลิกการใช้ซีแอล เพื่อแลกกับการถูกปลดออกจากบัญชีพีดับบลิวแอล