ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ระบุในรายงานการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้สามารถรอดพ้นจากวิกฤตการเงินโลกได้ ด้วยการใช้มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
รายงานการศึกษาที่มีชื่อว่า ผลกระทบของการชะลอตัวทางการเงินที่มีต่อเอเชียใต้ ชี้ว่า อนุภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากกระแสเงินทุนไหลออกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนตัวลง อีกทั้งยังเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัวและการที่แรงงานส่งเงินกลับประเทศลดลง ซึ่งมาตรการระยะสั้นจำนวนมากได้ถูกนำมาใช้เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการผ่อนปรนนโยบายการเงินและมาตรการกระตุ้นทางการคลัง รวมทั้งยังมีช่องว่างเหลือพอให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก โดยเฉพาะในอินเดียและศรีลังกา
ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่มีโอกาสไม่มากนักที่จะใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดเรื่องการขาดดุล แต่อินเดียซึ่งได้ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเช่นกัน ควรจัดสรรเงินทุนอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด
นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาแนวทางกระตุ้นให้แรงงานในต่างประเทศส่งเงินกลับบ้าน อาทิ เครื่องมือด้านการออม และควรหาวิธีการจัดการสวอปค่าเงิน และมาตรการอื่นๆ เพื่อให้ระบบการเงินของประเทศมีเสถียรภาพ
ส่วนในระยะยาวนั้น ประเทศในเอเชียใต้จำเป็นต้องลดการขาดดุลทางการคลัง ด้วยการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เดินหน้าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาคเพื่อชดเชยกับอุปสงค์ที่ลดลงจากกลุ่มประเทศจี7
"แม้ว่าบางประเทศในเอเชียใต้มีการลงทุนค่อนข้างน้อย จึงไม่ได้รับผลกระทบจากกระแสเงินทุนมากนัก แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากร 900 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยเงิน 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ /วันนั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในอนุภูมิภาคนี้ อัตราการขยายตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง" ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานเอดีบีกล่าว