นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการขนส่งระบบราง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ(กนร.) ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการและฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)
"ที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการแยกกระเป๋าอย่างชัดเจนว่าอะไรบ้างที่รัฐบาลต้องสนับสนุน ซึ่งแผนฟื้นฟูนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าส่วนไหนที่รัฐบาลรับผิดชอบ และส่วนไหนทำกำไรให้รัฐบาล"นายประดิษฐ์ กล่าว
แนวทางดังกล่าว รฟท.จะจัดตั้งบริษัทลูก 2 แห่ง เพื่อแยกงานเกี่ยวกับการบริหารการเดินรถ และการบริหารทรัพย์สินออกจากกัน ขณะที่ รฟท.ยังคงดูแลงานเกี่ยวกับการดูแลรักษาระบบรางและอาณัติสัญญาณ ทั้งนี้คาดว่าจะนำแผนงานดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวันที่ 17 มี.ค.52 ซึ่งหลังจากได้รับอนุมัติแล้วจะมีการจัดตั้งบริษัททั้ง 2 แห่งภายในระยะเวลา 30 วัน
รมช.คลัง กล่าวว่า แผนงานดังกล่าวได้ผ่านการหารือและเห็นชอบจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.แล้ว ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปกิจการรถไฟครั้งใหญ่เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและมีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายภาระบำนาญ 5.2 หมื่นล้านบาท และหนี้สินอีก 7.2 หมื่นล้านบาท
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า แผนจัดตั้งบริษัทลูก 2 แห่งประกอบด้วย บริษัทเดินรถแอร์พอร์ตลิ้ง จำกัด จะมีทุนจดทะเบียน 7,000 ล้านบาท แต่เบื้องต้น จะขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 500 ล้านบาท เป็นทุนจัดตั้งบริษัท คาดว่ากิจการเดินรถจะสามารถคืนทุนได้ภายในปีแรก และปีที่ 6 คาดว่าจะเริ่มมีกำไร
ส่วนอีกบริษัท คือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ โดยจะจัดสรรงบประมาณจัดตั้ง 60 ล้านบาท เพื่อบริหารทรัพย์สินที่ดินและอื่น ๆ ของ รฟท.ที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งตามแผนเดิมคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากการบริหารทรัพย์สิน 1,000 ล้านบาท/ปี และในปีที่ 10 จะสามารถมีรายได้เพื่อชำระคืนภาระเงินบำนาญกว่า 52,000 ล้านบาทได้หมด
แต่ทั้งนี้ รมช.คลัง ได้สั่งการให้มีการจัดทำแผนการบริหารทรัพย์สินเพื่อหารายได้ใหม่ เนื่องจากมองว่า รฟท.ควรจะมีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินได้มากกว่านี้ เพื่อให้บริษัทมีรายได้ทั้งจากการคืนภาระเงินบำนาญแล้ว ควรจะมีรายได้เพื่อการพัฒนา บริหารจัดการ หรือชำระหนี้ของ รฟท.ได้ด้วยโดยไม่เป็นภาระรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ในส่วนบริษัทบริหารสินทรัพย์จะมีการจ้างบริษัทมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาบริหารทรัพย์สินบางส่วนโดยเห็นว่าผู้บริหารของ รฟท.ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ แนวทางการบริหารทรัพย์สิน อาจจะดำเนินการในรูปการให้เช่าแบบเดิม หรือการร่วมทุนกับภาคเอกชนบริหารทรัพย์สิน