เอกชนแนะรัฐลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์-ส่งเสริมอุตฯต่อเนื่องหนุนกิจการอู่ต่อเรือไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 10, 2009 11:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตสาหกรรมต่อเรือไทยแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)สนับสนุนการลดหย่อนภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ หรือสนับสนุนให้มีการสร้างผู้รับช่วงการผลิตที่มีคุณภาพเพื่อป้อนให้กับความต้องการของอุตสาหกรรมนี้ได้เพิ่มขึ้นจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอู่ต่อเรือได้อีกมาก

"แม้ว่าการผลิตเรือในไทยจะมีต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น เช่น จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ถึง 30-40% เนื่องจากต้องนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศสูงถึง 90% แต่จากแรงงานที่มีฝีมือและคุณภาพการผลิตทำให้ลูกค้ายังให้ความสนใจที่จะผลิตเรือที่เมืองไทย" นายสนิท จอมสง่าวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวางแผนและควบคุม บริษัท อิตัลไทยมารีน จำกัด กล่าว

สำหรับกิจการอู่ต่อเรือของบริษัทมีแนวโน้มที่ดี โดยปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 20-30% เนื่องจากภายหลังการปรับราคาน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องมีการลงทุนผลิตน้ำมันมากขึ้น ทำให้เรือเอนกประสงค์เพื่อให้บริการสำหรับแท่นเจาะน้ำมันในทะเล มีความจำเป็นเพิ่มตามไปด้วย

ทั้งนี้บริษัทวางแผนจะลงทุนเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าจากตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งให้ความสนใจในการต่อเรือในประเทศไทย เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในคุณภาพ และแรงงานที่มีฝีมือในการต่อเรือสูง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค

ล่าสุด บริษัทได้จัดพิธีปล่อยเรือ Halul 40 (ฮาลูล โฟร์ตี้) ลงน้ำ หลังจากได้รับความไว้วางใจจากบริษัท ฮาลูล ออฟชอร์ เซอร์วิส คอมปานี จากประเทศการ์ตา ในการผลิตเรือขนาด 70 เมตร กว้าง 16 เมตร น้ำหนักบรรทุก 3,000 ตันกรอส สำหรับให้บริการสำหรับแท่นเจาะน้ำมันในทะเล และจะเริ่มทยอยส่งมอบเรือที่เหลือให้กับลูกค้าอีก 5 ลำภายในปี 2553

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการต่อเรือและซ่อมเรือของไทยมีศักยภาพในด้านคุณภาพการผลิตจนเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าทิศทางของอุตสาหกรรมต่อเรือของไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ประกอบกับความต้องการของเรือคอนเทนเนอร์ของตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยได้รับยอดสั่งต่อเรือสูงขึ้นด้วย

ในปี 2551 มีมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในการดำเนินกิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส มูลค่ากว่า 460 ล้านบาท

เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ภาครัฐมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือและซ่อมเรือในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการต่อเรือและซ่อมเรืออย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดให้เป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 8 ปี โดยไม่กำหนดสัดส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ