ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดสินเชื่อบุคคลปีนี้อาจหดตัวถึง 3.8%ขึ้นกับนโยบายรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 12, 2009 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลปี 52 อาจจะหดตัวมากสุดได้ถึง 3.8% หรือไม่แง่ดีสุดก็จะทรงตัวจากปีก่อน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ทำให้แนวโน้มการเลิกจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภค และคุณภาพสินเชื่อในระบบของธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank รวมถึงการเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น ประกอบกับการว่าจ้างแรงงานใหม่ลดลง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้

คาดว่าภายใต้สถานการณ์กรณีพื้นฐาน(Base Case)หากรัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ภาคเอกชนและผู้บริโภค และเศรษฐกิจโลกไม่ส่งสัญญาณทรุดตัวลงมากกว่าปัจจุบัน อาจจะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ที่อาจมีผลต่อการเลิกจ้าง คาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 52 น่าจะขยายตัว 0.0% ถึงติดลบ 2.5% เป็นวงเงิน 229,100-223,500 ล้านบาท

และกรณีเลวร้าย(Worst Case)การหดตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ไม่อนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ขอสินเชื่อแต่อย่างเดียว แต่ยังเกิดจากภาพรวมทางเศรษฐที่ปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ จะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และอาจส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างภาคธุรกิจขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภค และสะท้อนกลับมายังคุณภาพสินเชื่อในระบบ จึงคาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 52 อาจจะหดตัว 3.8% หรือเป็น วงเงิน 220,370 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ และ กลุ่ม Non-Bank จะเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้นก็ตาม แต่เนื่องจากธุรกิจยังคงต้องดำเนินต่อไป ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มยังคงมีความต้องการสินเชื่อ เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้คาดว่าในด้านการดำเนินกลยุทธ์การตลาดขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ และกลุ่ม Non-Bank คงจะมีวิธีที่แตกต่างกัน

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ค่อนข้างจะได้เปรียบเนื่องจากมีฐานลูกค้าบัญชีเงินฝาก มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาด โดยหันมาเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าในกลุ่มบริษัทที่เป็นลูกค้าของตน โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มลูกค้าในบริษัทที่มีการทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ เช่น กลุ่มบริษัทที่เป็นลูกค้าสินเชื่อที่มีการเปิดบัญชีการจ่ายเงินเดือนพนักงาน(Pay Roll)ซึ่งธนาคารพาณิชย์ สามารถรับรู้ถึงความมั่นคงในหน้าที่การงานของผู้ขอสินเชื่อ และสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ ง่ายขึ้น รวมถึงการเจาะกลุ่มลูกค้าเงินฝาก โดยอาจจะมอบสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า

กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ การแข่งขันจากธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในปีนี้ คาดว่าน่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากข้อจำกัดในด้านการดำเนินธุรกิจในไทย โดยเฉพาะการขยายสาขา ซึ่งทำให้ฐานลูกค้าของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ถูกจำกัดอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ และอาจมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากวิกฤตการเงินที่กำลังส่งผลกระทบสถาบันการเงินรายใหญ่ทั่วโลกในขณะนี้

กลุ่ม Non-Bank ผู้ประกอบการกลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการเลิกจ้างงานในระยะข้างหน้ามากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากลูกค้าของกลุ่ม Non-Bank ส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ส่งผลทำให้การทำตลาดของกลุ่ม Non-Bank คงจะถูกจำกัดมากขึ้น อย่างไรก็ดี การที่ธนาคารพาณิชย์หลายรายได้ปรับเพิ่มขึ้นอัตรารายได้ขั้นต่ำจากเดิม 15,000 บาท/เดือน เป็น 20,000 บาท/เดือน ทำให้ลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท อาจจะหันมาใช้บริการสินเชื่อในกลุ่ม Non-Bank มากขึ้น แต่การทำตลาดคงจะเน้นที่คุณภาพมากกว่าการเน้นจำนวนบัญชีใหม่ที่เกิดขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอแนะว่า ผู้ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มมียอดสินเชื่อคงค้างที่เกินกว่าระดับรายได้ของตนเอง หรือมีสินเชื่อมากกว่า 1 บัญชี และต้องการรีไฟแนนซ์สินเชื่อของตนเอง หรือขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาปิดบัญชีสินเชื่อที่มีอยู่นั้น อาจจะต้องศึกษาถึงความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง

ในกรณีที่ไม่สามารถขอสินเชื่อได้เต็มวงเงินที่จะนำมาปิดบัญชีเก่าได้ทั้งหมด การขอสินเชื่อใหม่ก็อาจจะกลับมาเป็นการเพิ่มภาระในการผ่อนชำระของผู้กู้ได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งผู้บริโภคควรที่จะมีการจัดการบริหารการเงินที่ดี ที่สำคัญผู้บริโภคควรที่จะใช้จ่ายบนพื้นฐานของความระมัดระวัง ไม่ควรใช้จ่ายจนเกินกำลัง เพื่อป้องกันการก่อหนี้เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ