หากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และยาทามิฟลูสามารถต้านทานไวรัสไข้หวัดนกได้ แล้ว"พิษซับไพรม์"เชื้อโรคร้ายที่มีอานุภาพรุนแรงถึงขนาดทำลายประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ให้ทรุดหนักเข้าขั้นโคม่านั้นจะใช้โอสถใดในการรักษา คำถามนี้คือปัญหาหนักอก ที่แม้แต่บริษัทเวชภัณฑ์ระดับโลกเองก็ไม่อาจพลิกตำรับยาใดมาใช้สมานแผลได้สำเร็จ
"ยา" เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ ยามใดที่ร่างกายคนเราอ่อนแอ "ยา"จะเป็นคำตอบแรกเสมอ และยามใดที่ผู้ผลิตยากำลังเผชิญความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจ สิทธิบัตร รวมไปถึงยอดขายที่รูดหนักจนน่าเป็นห่วง "การควบรวมกิจการ" ก็อาจเป็นยาอายุวัฒนะขนานเอกที่ผู้ประกอบธุรกิจเวชภัณฑ์ระดับโลกใช้เป็น "สูตรสำเร็จ" ในการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้บริษัทมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างยืนยาว
*สืบประวัติคนไข้...ผู้ใช้สูตรควบรวมกิจการ
โรช VS เจเนนเทค
วันที่ 12 มีนาคม 2552 : โรช โฮลดิ้ง เอจี บริษัทยาสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ด้านการรักษาโรคมะเร็งรายใหญ่ที่สุดในโลก ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อหุ้นที่เหลือของเจเนนเทค อิงค์ บริษัทไบโอเทคโนโลยีของสหรัฐอีก 44% ด้วยวงเงิน 4.68 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยโรชได้ระดมทุนเพิ่มประมาณ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ผ่านการขายพันธบัตร ส่งผลให้ความพยายามเทคโอเวอร์ที่เรื้อรังนานถึง 8 เดือนเป็นอันสิ้นสุดลง
เมอร์ค VS เชอริ่ง-พลาว
วันที่ 9 มีนาคม 2552 : เมอร์ค แอนด์ โค อิงค์ ประกาศควบรวมกิจการกับ เชอริ่ง-พลาว คอร์ปอเรชั่นมูลค่า 4.11 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีริชาร์ด ที. คลาร์ก ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้นำบริษัทที่ควบกิจการกัน และผู้ถือหุ้นเมอร์คจะเป็นเจ้าของบริษัทที่ควบรวมกันในสัดส่วน 68% ขณะที่ผู้ถือหุ้นเชอริ่ง-พลาวจะเป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าว 32%
ไฟเซอร์ VS ไวเอท
วันที่ 27 มกราคม 2552 : ไฟเซอร์ อิงค์ บริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐผู้ผลิตไวอากร้าอันลือลั่น ได้ทำข้อตกลงเทคโอเวอร์ ไวเอท ในราคา 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดข้อตกลงเทคโอเวอร์ในอุตสาหกรรมยามูลค่าสูงสุดในรอบเกือบสิบปี นับแต่ที่ไฟเซอร์เข้าครอบครองกิจการของวอร์เนอร์-แลมเบิร์ตด้วยข้อตกลงมูลค่า 9.34 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2543 โดยการดำเนินงานในบริษัทใหม่นี้อยู่ภายใต้การคุมบังเหียนของนายเจฟฟรีย์ คินด์เลอร์ ซีอีโอของไฟเซอร์
*สูตรควบรวมกิจการ...ให้ผลการรักษาในเชิงบวก
ในทางการแพทย์เป็นที่ทราบกันดีว่า การจ่ายยาให้ตรงตามอาการของผู้ป่วยจะช่วยให้กลไกการรักษาโรคทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในทางธุรกิจนั้น การควบรวมกิจการก็อาจให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจทั้งในแง่ของกลยุทธ์การดำเนินงาน และเม็ดเงินในงบดุลบัญชี เพราะหลังจากที่โรช เทคโอเวอร์ เจเนนเทคแล้ว โรชจะสามารถคุมอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อใช้ประโยชน์จากห้องแล็บของเจเนนเทคได้อย่างเต็มตัว เนื่องจากข้อตกลงเดิมจะหมดอายุลงในปี 2558 ส่วนเมอร์ค เมื่อรวมตัวกับ เชอริ่ง-พลาวแล้ว บริษัทจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐทันที ขณะที่การผนึกกำลังระหว่าง ไฟเซอร์ และ ไวเอท ก็ทำให้บริษัทกลายเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามในตลาดเภสัชกรรม จากการยึดครองอาณาจักรยารายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ และก้าวขึ้นรั้งอันดับหนึ่งด้านรายรับจากการจำหน่ายสินค้าด้านชีวเวชภัณฑ์ในอเมริกา
*สูตรควบรวมกิจการ...มีฤทธิ์กระตุ้นคุณสมบัติทางยาเพิ่มพูนแบบคูณสอง
สำหรับเมอร์คนั้น ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ยาสำหรับการรักษาโรคในสาขาหลักๆ โดยเฉพาะยาที่อยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้ายจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 18 รายการ และความเป็นปึกแผ่นในการผนวกรวมแผนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวของบริษัทได้อย่างยั่งยืนคือ สิ่งที่เมอร์คจะได้รับหลังกระบวนการทำข้อตกลงควบรวมเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนอกจากยาลดคอเรสตอรอล ZETIA และ VYTORIN ชื่อดังที่อยู่ภายใต้การดูแลของเมอร์คจะช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจผู้ป่วยให้เต้นได้อย่างเป็นปกติแล้ว ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ยังช่วยสูบฉีดอัตราการเต้นหัวใจของบริษัทให้พองโตได้สบายในอนาคต เพราะการครอบครองยาดังกล่าวช่วยชูจุดแข็งการเป็นผู้รักษาโรคหัวใจที่เมอร์คทุ่มเทมานานกว่า 50 ปี
*สูตรควบรวมกิจการ...มีคุณสมบัติช่วยรักษาอาการ MONEYPHILIA
ขณะที่โรค MONEYPHILIA หรือ อาการเงินไหลไม่หยุดที่เราเรียกติดตลกกันว่าโรค "ทรัพย์จาง" กำลังแพร่ระบาดในหลายบริษัท แต่การควบรวมกิจการของเมอร์ค และเชอริ่ง-พลาวจะทำให้สถานะทางการเงินของเมอร์คแข็งแกร่งขึ้น โดยในปี 2551 ทั้งสองบริษัทมีรายได้รวมกันกว่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และหลังจากควบรวมกิจการคาดว่า บริษัทจะมีบัญชีงบดุลพร้อมเงินสดและเงินลงทุนราว 8 พันล้านดอลลาร์ พร้อมมีความสามารถในการทำกำไรได้อย่างมหาศาล ขณะที่ผู้ถือหุ้นก็อุ่นใจได้เลยเพราะเมอร์คประกาศเป็นมั่นเหมาะแล้วว่าจะจ่ายเงินปันผลเท่าเดิมที่ 1.52 ดอลลาร์/หุ้น ซึ่งสูงกว่าที่ผู้ถือหุ้นของเชอริ่ง-พลาวได้รับถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ อานิสงส์ของการควบรวมกิจการทำให้มีความหวังว่าเมอร์คจะสามารถลดต้นทุนได้อย่างมหาศาลถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป หลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งสองใช้กลยุทธ์ลดต้นทุนท่ามกลางพิษเศรษฐกิจ ด้วยการลอยแพพนักงานครั้งใหญ่ไปแล้วก่อนที่จะหันหน้ามาควบกิจการกันในปีนี้
*สูตรควบรวมกิจการ....อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์
สิ่งใดมีคุณอนันต์ ล้วนมีโทษมหันต์ คือคำกล่าวที่เราได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ยังเด็ก เช่นเดียวกับฤทธิ์ยาบางตัวของสูตรควบรวมกิจการก็อาจถูกโรคกับคนไข้รายหนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับคนไข้อีกราย โดยเฉพาะเมื่อยามที่สูตรนี้กลายเป็นยาขมสำหรับพนักงานบริษัทผู้เคยเป็นขุมพลังผู้ทรงคุณค่าแต่ต้องแปรสถานะมาเป็น"ส่วนเกิน"
อาการไม่พึงประสงค์เช่นนี้เกิดขึ้นกับ ไฟเซอร์ แม้ว่าซีอีโอของบริษัทจะมองว่า ไฟเซอร์ และ ไวเอทดูเป็นคู่ที่เหมาะสมสำหรับการหลอมเป็นทองแผ่นเดียวกันเพราะต่างช่วยเติมเต็มความเป็นที่สุดด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และความชำนาญในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างลงตัวก็จริง แต่บริษัทก็จำต้องตัดหางปล่อยวัดพนักงานออกราว 19,000 คน จากยอดพนักงานของทั้งสองบริษัทรวมทั้งสิ้น 128,000 คน
*สูตรควบรวมกิจการ....อาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อน
หาก "กำลังใจ" คือน้ำหล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตของผู้คน "เงิน" ก็เป็นรากฐานสำคัญในการดำรงอยู่ของบริษัทยา สำหรับไฟเซอร์แล้วดูเหมือนว่าอนาคตจะไม่ใคร่สดใสนัก เพราะหลังจากควบรวมกิจการแล้ว รายได้ต่อหุ้นของไฟเซอร์อาจถูกปรับลดลงถึงครึ่งหนึ่ง มิหนำซ้ำบริษัทยังต้องเตรียมเงิน 2.3 พันล้านดอลลาร์จ่ายค่าปรับในคดีที่รัฐบาลกลางชี้มูลความผิดว่าไฟเซอร์ โปรโมทยาแก้ปวดอย่างไม่ถูกต้อง ไหนจะยังต้องเผชิญปัญหาเรื่องการขาดยาดาวรุ่งดวงใหม่เพื่อใช้แทนยายอดนิยมของบริษัทที่กำลังหมดอายุความคุ้มครองสิทธิบัตรในเร็วๆนี้ ซึ่งหากเวลานั้นมาถึง ผู้ผลิตยาเจ้าอื่นสามารถนำสูตรยาดังกล่าวไปผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตัวเองได้อย่างอิสระ
*เมื่อการวินิจฉัยโรคจากคุณหมอในโรงพยาบาล มีค่าเท่ากับ การวิเคราะห์สถานการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจ
การวินิจฉัยโรคมีความสำคัญต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยฉันใด การวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวเรื่องการควบรวมกิจการของบริษัทยาก็มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมฉันนั้น เดวิด มอสโควิทซ์ นักวิเคราะห์ของคาริส แอนด์ โค กล่าวถึงการเทคโอเวอร์ระหว่างเมอร์คกับเชอริ่ง-พลาวว่า เป็นปรากฎการณ์ที่สร้างแรงกดดันให้บริษัทยาเจ้าอื่นๆ เช่น ซาโนฟี-อาวองทิส เอสเอ และ แอสตราเซเนก้า รวมไปถึงบริสทอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ โค ให้เดินหน้ารวมกิจการด้านการวิจัยเพื่อหาทางหนีทีไล่ในยามที่ผลิตภัณฑ์ขายดีของบริษัทกำลังจะสูญเสียการคุ้มครองทางสิทธิบัตร ขณะเดียวกันเขาก็ชื่นชมที่ไฟเซอร์ มุ่งมั่นควบรวมกิจการกับไวเอท เพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาไบโอเทคและวัคซีนของอดีตคู่แข่ง แม้ว่าบริษัทแห่งนี้จะเผชิญปัญหาล้านแปดหลังควบกิจการไปแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกันนิค เทอร์เนอร์ นักวิเคราะห์จากมราโบด์ กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่ตอนนี้มีราคาค่อนข้างถูก ดังนั้นใครที่มีเงินสดอยู่ในมือก็สามารถเข้ามาซื้อได้ และนี่อาจจุดกระแสการควบรวมและซื้อกิจการให้เกิดขึ้น สอดคล้องกับความเห็นของเนวิด มาลิค นักวิเคราะห์จากแมทริกซ์ คอร์ปอเรท แคปิตอล แอลแอลพี ที่มองว่า การควบรวมกิจการครั้งใหญ่กำลังจะกลับมา เนื่องจากรายได้ในธุรกิจเภสัชกรรมไม่มีทีท่าว่าจะขยายตัว และการลดค่าใช้จ่ายก็ไม่สามารถทำได้มากนัก ดังนั้น หากบริษัทใดก็ตามพลาดการควบรวมกิจการครั้งมโหฬารนี้แล้วละก็ ความเสี่ยงที่จะพลาดโอกาสชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอาจเกิดขึ้นได้แน่นอน
ส่วนฟิลิปป์ ลาโนน นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์นาติซิส ซีเคียวริตีส์ ในฝรั่งเศสฟันธงลงไปว่า ปีนี้คือปีแห่งการผนึกกำลังควบรวมกันของบริษัทยา เนื่องจากพวกเขาไม่มีทางเลือกมากนัก หากต้องการเห็นบริษัทมีกำไรในปีนี้หรือปีต่อๆไป
หากนักวิทยาศาสตร์คือผู้ที่คิดค้นสูตรยาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ทรงพลังในการรักษาผู้ป่วย ผู้บริหารก็ไม่ต่างจากผู้คิดค้นและกำหนด"สูตรการดำเนินธุรกิจ"เพื่อให้บริษัทเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และแม้ว่าสูตรสำเร็จจากการใช้กลยุทธ์ควบรวมกิจการ อาจจะไม่ใช่"ยาครอบจักรวาล"ที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยทุกอย่างให้หายขาด แต่อานุภาพของยาสูตรนี้ก็อาจช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานในการดำเนินธุรกิจยามที่บริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับโลกต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งกลียุคทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายเช่นในปัจจุบัน