น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป(อียู) มีมติร่วมกันให้หยุดพักการเจรจาจัดทำเอฟทีเอเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการหารือในระดับนโยบายว่าจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไร เนื่องจากไม่สามารถหาข้อยุติได้ในกรอบการเจรจาที่อาเซียนต้องการให้เจรจาในระดับภูมิภาคต่อภูมิภาค คืออาเซียนกับอียู ขณะที่อียูต้องการเจรจาเฉพาะกับบางประเทศของอาเซียนที่มีความพร้อมก่อน
ทั้งนี้ อียูได้แจ้งว่าปัญหาสำคัญในขณะนี้ คือ ระดับการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันของอาเซียน และเกิดปัญหาในประเด็นความต้องการในด้านการเปิดตลาดที่ต่างกัน อียูจึงต้องการเจรจาภายใต้กรอบภูมิภาคอียูกับประเทศอาเซียนที่มีความพร้อมเปิดตลาดที่สูงมากพออย่างน้อย 3 ประเทศขึ้นไปก่อน เพื่อเป็นการสร้างฐานที่จะนำไปสู่ความตกลงระดับภูมิภาคในภายหลัง ซึ่งอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน) และเวียดนามอยู่ในเป้าหมายที่อียูต้องการเจรจา
"อาเซียนเห็นว่าการเจรจา FTA อาเซียน-อียู เดิมทีรัฐมนตรีทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็นร่วมกันที่จะให้เป็นการเจรจาระดับภูมิภาคต่อภูมิภาค จึงได้แจ้งอียูไปว่าอาเซียนยึดหลักการเจรจาอันนี้ หากจะเปลี่ยนแนวทางการเจรจาจะต้องเป็นการตัดสินใจระดับรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 4-6 พ.ค.นี้ที่กัมพูชา จะเชิญรัฐมนตรีการค้าของอียูมาร่วมประชุม เพื่อหาทางออกต่อไป" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเวทีต่างๆ นั้น ทางกรมฯ ได้ตั้งคณะที่ปรึกษาการเจรจาการค้าระหว่างประเทศแล้ว โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม กำหนดประชุมใหญ่ปีละ 2 ครั้ง และให้ประชุมกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการมีส่วนร่วม กลุ่มประเด็นทางสังคมสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มประเด็นการค้าบริการและการลงทุน กลุ่มสินค้าเกษตร และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม
"มีประชุมคณะใหญ่เพื่อกำหนดท่าทีการเจรจากันไปแล้วเมื่อเดือนก.ย.51 และประชุมกลุ่มย่อยทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้กรมฯ ได้ประโยชน์มาก เพราะสามารถนำท่าทีการเจรจา และข้อเสนอแนะที่ได้มากำหนดกรอบการเจรจาของไทยได้อย่างถูกต้อง" น.ส.ชุติมา กล่าว