ผู้ว่า ธปท.แนะรัฐสร้างสมดุลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น-ยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า รัฐบาลควรจะสร้างสมดุลในมาตรการต่าง ๆ ที่นำออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเป็นมาตรการที่จะผลักดันให้เม็ดเงินออกมาโดยเร็วก็เป็นผลดี แต่ต้องให้เกิดผลต่อการสร้างศักยภาพในระยะยาวด้วย

บางครั้งมาตรการทั้ง 2 ด้านอาจไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะการเร่งให้มีการใช้จ่ายเงินเพื่อให้มีเงินเข้าสู่ระบบโดยเร็ว ไม่ได้เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น รัฐบาลควรสร้างความสมดุลทั้งมาตรการที่เกิดผลในระยะสั้น และมาตรการที่พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่จะมีผลในระยะยาว

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด รัฐบาลจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ และจะต้องมีมาตรการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีเม็ดเงินออกไปสู่ระบบอย่างแท้จริง และเป็นไปตามเวลาที่กำหนด

"เห็นได้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นเงินที่ใช้แล้วหมดไปแต่มีประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อยากให้มองอีกด้านที่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวด้วย" นางธาริษา กล่าว

สำหรับกรณีที่รัฐบาลเตรียมกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า ตามที่รัฐบาลได้วางกรอบวงเงินลงทุนรวม 1.4 ล้านล้านบาท เชื่อว่าจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจมาก แต่เห็นว่ารัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการจัดหาแหล่งเงินลงทุนด้วย

"การที่จะออกมาตรการเป็นแพ็คเกจใหญ่ ยิ่งวงเงินลงทุนมากก็ยิ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ แต่ต้องดูอีกด้านในเรื่องของ Funding ด้วย หากมีรัฐบาลใช้จ่ายเยอะ ก็ต้องดูว่าจะหาเงินจากแหล่งไหน" นางธาริษา กล่าว

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เชื่อว่ามีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ แต่มั่นใจว่าแม้ธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะไม่หันมาลงทุนในพันธบัตรแทนที่จะไปปล่อยสินเชื่อตามปกติ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ