พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐและยุโรปควรเพิ่มวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ราว 4% ของตัวเลขจีดีพี โดยเฉพาะยุโรปที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปไม่อาจหลุดพ้นภาวะถดถอยได้
"ความเห็นของผมก็คือทั้งสหรัฐและยุโรปควรเพิ่มวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ถึง 4% ของตัวเลขจีดีพี แต่จนถึงขณะนี้สหรัฐไม่ได้ดำเนินนโยบายที่แข็งแกร่งพอที่จะต้านทานวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะที่ยุโรปก็ดำเนินมาตรการได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสหรัฐ ซึ่งการดำเนินการที่หละหลวมเช่นนี้จะทำให้เราตกอยู่ในอันตราย" ครุกแมนกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่เมืองบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม
ครุกแมนยังกล่าวด้วยว่า "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐควรอยู่ที่ระดับ 6 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 1 ปี ส่วนในยุโรปน่าจะอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 1 ปี แต่การที่สำหรัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลากว่า 3 ปีถือว่ายังพยายามไม่มากพอ เพราะวงเงินควรจะสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ และยุโรปก็ควรใช้วงเงิน 4 แสนล้านยูโร หรือ 5.20 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเท่ากับ 3.3% ของตัวเลขจีดีพี"
"ปัญหาของยุโรปคือไม่สามารถควบคุมความเสียหายของเศรษฐกิจได้ เพราะไม่มีการวางระบบเอาไว้แต่แรกว่าจะต้องใช้อำนาจส่วนกลาง "
การแสดงความเห็นของครุกแมนมีขึ้นหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2 แสนล้านยูโร หรือ 2.60 แสนล้นดอลลาร์ หรือคิดเป็น 3.3%ของตัวเลขจีดีพีของ 27 ชาติสมาชิกอียู ขณะที่รัฐบาลสหรัฐวางแผนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสัดส่วน 2%ของตัวเลขจีดีพีในปี 2552 และ 1.8%ของตัวเลขจีดีพีในปีหน้า สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน