นิด้า แนะรัฐอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นศก.อีก-ตั้ง "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง"ชี้ทางออกเศรษฐกิจ ธุรกิจไทยทำอย่างไรไม่ให้ติดลบ"ว่า ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 ด้วยการอัดฉีดเงินลงทุน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในโครงการหลัก อย่างน้อย 4 โครงการคือ 1. การลงทุนเมกะโปรเจ็คส์ เช่น ระบบบขนส่ง และลอจิสติกส์ จัดสรรเม็ดเงินจำนวน 3.57 แสนล้านบาท และ โครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกื้อหนุนภาคอุตสาหกรรมอีก 8.7 หมื่นล้านบาท

2. รัฐบาลควรส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยใช้เงินทุน 2.5 หมื่นล้านบาท 3. การส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร 1.6 หมื่นล้านบาท และ 4. การส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ วงเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท

"หลังจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งแรกแล้วไปแล้วด้วยเงิน 1.5 แสนล้านบาท มุ่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ควรอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนอีก 5 แสนล้านบาท...แม้รัฐบาลจะมีแผนลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท แต่แหล่งเงินกู้ต่างประเทศอาจมีความไม่แน่นอน และไม่เพียงพอตอบสนองตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลได้ แต่ถ้ามีแหล่งเงินทุนที่แน่นอน ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชน" นายเอกชัย กล่าว

นายเอกชัย กล่าวอีกว่า รัฐบาล ควรจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) วงเงิน 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.68 แสนล้านบาท) โดยนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ประโยชน์ พร้อมระดมทุนจากแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากการกู้ต่างประเทศ เพื่อใช้ในการพัฒนา เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (เอดีบี) ตลอดจนเร่งรัดการเก็บภาษีประเภทอื่นๆ เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย Sin Tax รวมถึงการกู้ยืมจากภาคเอกชน และการออกพันธบัตรรัฐบาล

ทั้งนี้ได้เสนอแนะว่า แนวทางการจัดตั้ง กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ควรมีใครเป็นผู้บริหารจัดการ และดำเนินการในรูปแบบใด และต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากการชำระคืนเงินตราต่างประเทศ หากเกิดวิกฤติการเงินเช่นปี 40

ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงจากต่างประเทศ ทั้งการค้าระหว่างประเทศที่หดตัวรุนแรง และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่ผันผวนมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการกีดกันการค้ารูปแบบใหม่ และการกีดกันทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจ สถาบันการเงินและนักลงทุน ต้องทำการประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจภายใต้ความเสี่ยงอย่างเข้มเข้ม จากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ

ทั้งนี้ SCRI ได้จัดทำโครงการประเมินความเสี่ยง ภายใต้ "SCRI Rating" ระยะแรก ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยการประเมินความเสี่ยงการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน 2 ด้าน คือ ด้านบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นการประเมินเชิงคุณภาพ และสถานภาพทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน ประเมินในเชิงปริมาณผ่านแบบจำลองและอัตราส่วนทางการเงิน

ส่วนระยะต่อไป จะประเมินความเสี่ยงในกรอบของโครงสร้างอุตสาหกรรม ในลักษณะ "ดัชนีความเสี่ยง" มุ่งเน้นให้ง่ายต่อการติดตามและวิเคราะห์ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม คำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งสถาบันการเงิน นักลงทุน และผู้ประกอบธุรกิจ ที่ต้องทราบสถานะความเสี่ยงของธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต และช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ