กองทุนบำเน็จบำนาญและบริษัทประกันชีวิตที่บริหารเงินทุนกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในเอเชียกำลังเบนเข็มไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทนตลาดหุ้น เนื่องจากกองทุนและบริษัทประกันเหล่านี้คาดว่า ตลาดหุ้นในเอเชียจะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ดิ่งลงเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว
บริษัท กัฟเวอร์เมนท์ เซอร์วิส อินชัวรันซ์ ซิสเต็ม ในฟิลิปปินส์ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง 80% ตั้งแต่ต้นปี 2550 และเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ถึง 2 เท่า ขณะที่ผู้บริหารกองทุนบำเน็จบำนาญของรัฐบาลไทบ บริษัท เอ็มซีไอเอส ซูริค อินชัวรันซ์ บีเอชพี ของมาเลเซีย คาเธย์ ไลฟ์ อินชัวรันซ์ ของไต้หวัน และบาจาจ อะไลแอนซ์ เจเนอรัล อินชัวรันซ์ ของอินเดีย ต่างให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทกำลังหันไปลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาล
การลงทุนดังกล่าวจะทำให้ผลประโยชน์ตอบแทนพันธบัตรที่มีอายุการไถ่ถอน 10 ปีหรือนานกว่านั้นลดลง แม้ว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆในเอเชียจะเพิ่มการขายตราสารหนี้และไฟแนนซ์มูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนอัตราการออมในภูมิภาคเอเชียก็ขยายตัวขึ้นประมาณ 20% ต่อปี ซึ่งช่วยให้ผู้บริหารระดับนโยบายลดภาวะขาดดุลได้
อีธาน หวง ผู้จัดการการลงทุนของคาเธิย์ ไลฟ์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ที่สุดในไต้หวัน กล่าวว่า เราซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาแล้วจำนวนมาก และตอนนี้เราก็กำลังซื้ออยู่ เราไม่สามารถหาแหล่งลงทุนทางเลือกอื่นๆได้
บลูมเบิร์กรายงานว่า องค์กรแรงงานสากลระบุว่า กองทุนบำเน็จบำนาญกำลังขยายการลงทุนในเอเชีย ซึ่งมีประชากรวัยทำงานอยู่ 60% เมื่อเปรียบเทียบกับในสหรัฐที่ 41% ขณะที่อัตราการออมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยอยู่ที่ 32% เมื่อช่วงสิ้นปี 2550 ส่วนอินเดียอยู่ที่ 35% เมื่อเปรียบเทียบกับของสหรัฐในปัจจุบันที่ 5%
สินทรัพย์ของบริษัทประกันของจีนเพิ่มขึ้น 28% ต่อปี ในช่วง 4 ปีที่แล้ว แตะ 3.4 ล้านล้านหยวน หรือ 4.97 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงในไต้หวันที่ 17% และมาเลเซียที่ 14%
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาเลเซียได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจจะทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณปี 2552 ถึง 7.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ส่วนอินเดียก็ได้ลดภาษีและใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นส่งผลให้การขายตราสารหนี้เพิ่มขึ้นถึง 67% มูลค่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.