สายบริหารการเงินและฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/52 จะหดตัวระหว่าง 3-4 % แม้ภาครัฐเร่งใช้นโยบายการคลัง และการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในด้านนโยบายการคลังถูกจำกัดจากกรอบวินัยทางการคลัง และการเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงมาก จึงเอื้อต่อการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในระยะต่อไป
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับลดลงเหลือ 1.0% ในช่วงกลางปี 52 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนสูง โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลให้อุปสงค์ต่างประเทศลดลง การส่งออกไทยจึงหดตัวลงมาก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงอ่อนแอ ทั้งจากการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน
สายบริหารการเงินและฝ่ายวิจัย BBL ระบุถึง สภาพคล่องของสถาบันการเงินไทย เดือน ม.ค. 52 พบว่า มีสภาพคล่องสูงขึ้น พิจารณาจากสัดส่วนสินเชื่อ/เงินฝาก ที่ลดลงเหลือ 86.8% และเงินฝากคงค้างสูงกว่าสินเชื่อ 931,900 ล้านบาท รวมถึงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquid Assets) เฉพาะ ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 18 แห่งมีสินทรัพย์สภาพคล่อง 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 23.3% ของสินทรัพย์รวม
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร ประเภท Overnight ในเดือน ก.พ. 52 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.76% ลดลงจาก 2.1% ในเดือนที่แล้ว โดยนักลงทุนส่วนใหญ่กู้ยืมระยะสั้น ๆ เพราะคาดว่า ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ซึ่งผลการประชุมของคณะกรรมการ กนง. เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 52 เห็นว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกผ่านการส่งออกที่หดตัวลงมาก รวมถึงอุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ จึงมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5% อยู่ที่ 1.50% และธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมลงตาม โดยเฉพาะดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ทรงตัวอยู่ที่ 0.75% นับตั้งแต่กลางปี 2546 ได้ปรับลดลงเหลือ 0.5%
สำหรับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศก็ปรับลดลงอีก โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 52 BOE ได้ปรับลดดอกเบี้ย Current Bank Rate ลงอีก 0.5% อยู่ที่ 1.0% และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Rate ลงอีก 0.5% เหลือ 1.5%
ด้านเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์จำนวน 34 แห่ง เดือน ม.ค. 52 มียอดคงค้าง 7.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 2,700 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.04% แต่หากเทียบจากปีก่อน เพิ่มขึ้น 5.5% และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร ทำให้ผู้ฝากเงิน มีการโยกย้ายเงินฝากไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ตั๋วแลกเงิน กองทุนรวม และหุ้นกู้ภาคเอกชน ดังจะเห็นได้จากยอดคงค้างของตั๋วแลกเงินในเดือน ม.ค. 52 จำนวน 607,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 32.0% และยอดคงค้างของเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน ในเดือน ม.ค. 52 จำนวน 2.2123 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 75,900 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาโครงสร้างเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่า ในเดือน ม.ค. 52 สัดส่วนเงินฝากประเภทออมทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนเงินฝากประจำลดลง โดยเฉพาะเงินฝากประจำระยะ 3-6 เดือนลดลง จาก 16.3% ณ สิ้นปี 51 เหลือ 13.3% ในเดือน ม.ค. 52 ส่วนเงินฝากประจำไม่เกิน 3 เดือน และระยะ 6-12เดือน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ส่วนเงินฝากเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทย 18 แห่ง เดือน ม.ค. 52 มียอดคงค้าง 6.531 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 13,700 ล้านบาท หรือหดตัว 0.2%
และสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย 18 แห่ง เดือน ม.ค. 52 มีจำนวน 5.786 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 95,000 ล้านบาท หรือหดตัว 1.6% โดยธนาคารเกือบทุกแห่งธนาคารมีสินเชื่อลดลงยกเว้น ธนาคารทิสโก้ และ ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)