นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยหลังเยือนประเทศญี่ปุ่นว่า ได้หารือกับ นายซานาเอะ ทาอิคาอิชิ รมช.กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) และกลุ่มผู้บริหารบริษัท ซูมิโตโม คอร์เปอเรชัน โดยเสนอให้ญี่ปุ่นนำเข้าพลังงานทดแทน (เอทานอล) จากไทยเพิ่มขึ้นในปี 53 เนื่องจากเป็นปีที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายให้ใช้เอทานอลผสมน้ำมันเพิ่มอีก 3% ทำให้มีความต้องการนำเข้าเอทานอลเพิ่มจาก 50 ล้านลิตร/ปี เป็น 840 ล้านลิตร/ปี จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกเพิ่ม เพราะปีหน้าผู้ประกอบการเอทานอลในไทย มีแผนขยายกำลังผลิตเพิ่มจาก 1.8 ล้านลิตร/วัน เป็น 4 ล้านลิตร/วัน
ปัจจุบัน ไทยส่งออกเอทานอลไปญี่ปุ่นเป็นอันดับสาม มีส่วนแบ่งตลาดที่ 12% รองจากบราซิล ที่มีส่วนแบ่งอันดับ 1 ราว 50% และ ปากีสถาน 22% แต่ปี 53 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกให้มากขึ้น โดยจะใช้ข้อได้เปรียบทางภาษีในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) ที่สามารถส่งออกเอทานอลไปญี่ปุ่นโดยไม่เสียภาษี และหลังจากนี้จะทำหนังสือยืนยันไปถึงเมติ ให้ช่วยประสานนำสมาคมผู้ผลิตพลังงานทดแทนของไทยกับสมาคมผู้นำเข้าเอทานอลจากญี่ปุ่นมาเจรจาธุรกิจร่วมกัน
"เราแสดงความพร้อมว่าไทยพร้อมส่งออกเอทานอลมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีแผนตั้งโรงผลิตพลังงานทดแทนอีก 12 แห่ง ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสนใจมาก เพราะปีหน้าญี่ปุ่นจะบังคับใช้กฎหมายใช้เอทานอลผสมน้ำมัน และต้องนำเข้าเอทานอลเพิ่ม ประกอบกับไทยได้เปรียบ ที่มีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าคู่แข่งหลายประเทศ เพราะระยะทางใกล้กว่าด้วย นอกจากนี้ไทยยังเสนอให้ญี่ปุ่นเพิ่มการใช้เอทานอล เป็น อี10 อย่างไทยใช้ เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน"นายอลงกรณ์ กล่าว
รมช.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า หลังรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศกฎหมายการใช้พลังงานทดแทนในน้ำมัน ทำให้ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดนำเข้าพลังงานทดแทนรายใหญ่อันดับต้นของโลก ดังนั้น ไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อส่งออก เพราะมีความได้เปรียบด้านการขนส่งมากกว่าประเทศคู่แข่งทั้ง บราซิล และสหรัฐอเมริกา
ปีหน้าคาดว่าหากไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ ทำให้มูลค่าส่งออกพลังงานทดแทนเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องถึงเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ที่ขายพืชผลได้ราคาดีขึ้น เพราะแนวโน้มราคาเอทานอลยังน่าปรับขึ้นอีกจากปัจจุบันที่อยู่ 450 ดอลลาร์/ตัน อีกทั้งช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการแทรกแซงราคาด้วย