ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (19 มี.ค.) นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการเสริมสภาพคล่องในระบบผ่านการเข้าซื้อพันธบัตร โดยดอลลาร์ดิ่งลง 1.18% เมื่อเทียบกับยูโร และร่วงลง 1.43% เมื่อเทียบกับเยน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับเยนที่ 94.480 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 95.850 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1230 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1392 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.3665 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพุธที่ 1.3505 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.4511 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.4332 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดีดตัวขึ้นแตะระดับ 0.6861 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.6804 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.5546 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.5459 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
โยเซฟ เทรวิซานี นักวิเคราะห์จาก FXSolutions กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลงอย่างหนักนับตั้งแต่เฟดประกาศใช้มาตการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่ครอบคลุมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และเพิ่มการรับซื้อตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) อีก 7.50 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ เฟดจะเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดย หรือ รับประกันโดยสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เพื่อการซื้อบ้านรายใหญ่ 2 แห่ง คือ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ในปีนี้ด้วย
"แม้เฟดเชื่อว่าการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย กระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคและการปล่อยกู้ และช่วยให้สภาพคล่องในระบบไหลลื่น แต่ก่อให้เกิดความกังวลว่าเม็ดเงินสกุลดอลลาร์ที่ไหลบ่าเข้าสู่ระบบจำนวนมากนี้จะยิ่งทำให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์มากขึ้น หากสกลุเงินดอลลาร์ร่วงลงเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้สินทรัพยในรูปสกุลเงินดอลลาร์ด้อยค่าลง และมาตรการดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา ซึ่งความกังวลในเรื่องดังกล่าวได้ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเมื่อคืนนี้ด้วย" เทรวิซานีกล่าว
เทรซิวานียังกล่าวด้วยว่า "ที่ผ่านมานั้นเฟดไม่ค่อยใช้วิธีนี้เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเฟดระมัดระวังเรื่องเงินเฟ้อมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อเฟดประกาศใช้มาตรการดังกล่าว ตลาดปริวรรตเงินตราจึงมีปฏิกริยาในด้านลบทันที หากดอลลาร์ร่วงลงแบบยั้งไม่อยู่ ก็จะกลายเป็นปัญหามากขึ้นต่อทั้งรัฐบาลและผู้บริโภคชาวอเมริกัน"
อย่างไรก็ตาม ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป เชื่อว่าผลกระทบของมาตรการเฟดที่มีต่อค่าเงินดอลลาร์จะเป็นเพียงปรากฎการณ์ในระยะสั้นๆเท่านั้น เพราะมั่นใจว่าเฟดคิดอย่างรอบด้านแล้วว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อดอลลาร์ในระยะแรก แต่จะดีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยเขาเชื่อว่าการระบุว่ามาตรการเฟดจะจุดชนวนเงินเฟ้อหรือฉุดดอลลาร์ให้ร่วงลงในระยะยาว ถือเป็นการตัดสินที่เร็วเกินไป
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่ผ่านมา และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน 0.2% ซึ่งเท่ากับเดือนม.ค.