IMF คาดเศรษฐกิจโลกหดตัว 0.5-1%ปีนี้ แนะรบ.ทั่วโลกเพิ่มมาตรการรับมือภาวะถดถอย

ข่าวต่างประเทศ Friday March 20, 2009 09:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2552 จะหดตัวลงราว 0.5-1% ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวครั้งแรกในรอบ 60 ปี และมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนม.ค.ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 0.5% ในปีนี้ พร้อมกับแนะนำฐบาลทั่วโลกให้ใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว

ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 2.6% ซึ่งมากกว่าเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัวลงเพียง 1.6% ซึ่งการทบทวนตัวเลขคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟมีขึ้นหลังจากธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และคาดว่าการค้าทั่วโลกจะถดถอยลงรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเรียกร้องกลุ่มประทศ G20 ให้ใช้มาตรการพลิกฟื้นระบบการเงิน เข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหาในภาคธนาคาร และกระตุ้นกลไกการปล่อยกู้ให้กลับมาทำงานตามปกติ ซึ่งหาก G20 ไม่เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจถดถอยในระดับที่ลึกขึ้น แม้หลายประเทศพยายามอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบก็ตาม

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้กลุ่ม G20 จัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ราว 2%ของตัวเลขจีดีพีในปีนี้และปีหน้า หลังจากจีดีพีทั่วโลกลดลง 8% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 6.2% โดยนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่หลายประเทศในยุโรปแสดงท่าทีคัดค้าน

กลุ่ม G20 ซึ่งประกอบไปด้วยชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่น รวมทั้งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน อินเดีย และบราซิล จะจัดประชุมสุดยอดในวันที่ 2 เม.ย.นี้ที่กรุงลอนดอน

ก่อนหน้านี้ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐและยุโรปควรเพิ่มวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ราว 4% ของตัวเลขจีดีพี โดยเฉพาะยุโรปที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปไม่อาจหลุดพ้นภาวะถดถอยได้

ครุกแมนกล่าวว่า "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐควรอยู่ที่ระดับ 6 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 1 ปี ส่วนในยุโรปน่าจะอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 1 ปี แต่การที่สำหรัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลากว่า 3 ปีถือว่ายังพยายามไม่มากพอ เพราะวงเงินควรจะสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ และยุโรปก็ควรใช้วงเงิน 4 แสนล้านยูโร หรือ 5.20 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเท่ากับ 3.3% ของตัวเลขจีดีพี" สำนักข่าวเอพีรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ