กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า แผนการดังกล่าวจะช่วยยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยและช่วยฟื้นฟูระบบการเงินในสหรัฐ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์สหรัฐต้องถือครองตราสาร MBS ไว้ทั้งๆที่มีคุณภาพต่ำและด้อยค่า และไม่สามารถนำออกจำหน่ายได้ นอกจากนี้ สถาบันการเงินที่ถือครองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไว้เป็นจำนวนมากยังเพิ่มกฎเกณฑ์ด้านการปล่อยกู้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ระบบการเงินตกอยู่ในภาวะชะงักงันและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ
"เราคาดว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับธนาคารพาณิชย์ เพราะจะช่วยให้คุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพเหล่านี้ ดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และในที่สุดจะสามารถขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากดุลบัญชี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวคล้ายคลึงกับหลักการ 'เอาน้ำดีเข้าไปถ่ายเทน้ำเสีย' และที่สำคัญรัฐบาลเป็นผู้เข้าซื้อสินทรัพย์เหล่านี้โดยตรง เราเชื่อว่าแผนนี้จะช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ในภาคการเงินได้" กระทรวงการคลังกล่าวในแถลงการณ์
กระทรวงการคลังระบุว่า โครงการลงทุนภาครัฐ-เอกชนจะมีเม็ดเงิน 7.5 หมื่นล้านถึง 1 แสนล้านดอลลาร์เข้ามาสมทบ ซึ่งจะมาจากวงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ของกองทุนฟื้นฟูภาคการเงินที่ได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจะใช้เงินจำนวนนี้เข้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
ส่วนรายละเอียดอื่นๆของโครงการดังกล่าว กระทรวงการคลังระบุว่า รัฐบาลจะสนับสนุนนักลงทุนให้เข้ามาส่วนในโครงการ ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงและรับประกันตราสารหนี้โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลาง (FDIC) ซึ่งหมายความว่านักลงทุน รวมถึงกลุ่มไพรเวท อิควิตี้, นักลงทุนรายย่อย, กองทุนบำเน็จบาญ และบริษัทประกัน จะแบกรับความเสี่ยงน้อยมาก ขณะที่ฝั่งรัฐบาลแบกความเสี่ยงไว้ถึง 93%
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังจะเข้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ จากนั้นจะค่อยๆเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อไปจนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์
สำนักข่าว CNN รายงานว่า การเปิดเผยโครงการขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของกระทรวงการคลังสหรัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่ง 497.48 จุด หรือ 6.84% แตะที่ 7,775.86 จุด และช่วยหนุนสัญญาน้ำมันดิบและตลาดหุ้นลอนดอนปิดทะยานขึ้นถ้วนหน้า