นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือภายใต้บริการประกันการส่งออกระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK)กับสถาบันการเงิน 10 แห่ง ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลจาก EXIM BANK ได้รับการอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจากกระทรวงการคลังจำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อไปให้บริการประกันการส่งออก (EXIM Surance) ที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศท่ามกลางภาวะวิกฤตการเงินโลก
ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับธนาคารทั้ง 10 แห่ง จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารนั้นๆ สามารถเข้าถึงบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK ได้โดยสะดวกขึ้นโดยการติดต่อผ่านธนาคารที่ตนเองมีธุรกรรมอยู่ ทั้งยังมีโอกาสได้รับการขยายสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากกรมธรรม์ประกันการส่งออกของ EXIM BANK ถือเป็นหลักประกันประเภทหนึ่งที่สามารถโอนสิทธิการรับค่าชดเชยสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ได้
สำหรับบริการประกันการส่งออกช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่เหมาะสมและแข่งขันได้ให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศจำนวนกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดย EXIM BANK จะคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้า ได้แก่ กรณีผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า หรือความเสี่ยงทางการเมือง ได้แก่ การควบคุมการโอนเงินกลับมายังประเทศไทย ผู้ซื้อไม่สามารถนำสินค้าเข้าไปในประเทศได้ และเกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร โดย EXIM BANKจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น
รวมทั้งช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อและติดตามหนี้ให้ในกรณีที่เกิดปัญหา ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดเดิม รวมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดได้มากขึ้น
สำหรับสถาบันการเงินทั้ง 10 แห่ง ที่ร่วมมือกับ EXIM BANK ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ(BBL), ธนาคารกรุงไทย(KTB), ธนาคารกสิกรไทย(KBANK), ธนาคารทหารไทย(TMB), ธนาคารไทยธนาคาร(BT), ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB), ธนาคารนครหลวงไทย(SCIB), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้มีข้อมูลจากสถาบันประกันการส่งออกชั้นนำของโลกระบุว่า จำนวนของธุรกิจที่ล้มละลายในประเทศต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้จำนวนธุรกิจที่ล้มละลายในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเป็น 62,000 แห่ง(จาก 28,322 แห่งในปี 2550) ในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็น 17,000 แห่ง(จาก 14,091 แห่งในปี 2550) ขณะที่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจะเพิ่มขึ้นเป็น 38,200 แห่ง(จาก 22,832 แห่งในปี 2550) และ 62,700 แห่ง(จาก 50,012 แห่งในปี 2550) ตามลำดับ