"พอล ครุกแมน"ฟันธงแผนล้างหนี้เสียของขุนคลังสหรัฐล้มเหลว แขวะเอาเงินไปซื้อขยะ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 24, 2009 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังต่อแผนขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของกระทรวงการคลังสหรัฐ และเชื่อว่าแผนการดังกล่าวจะล้มเหลวอย่างแน่นอน

กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกำจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากงบดุลบัญชีของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ "โครงการลงทุนภาครัฐ-เอกชน" (Public-Private Investment Programme) ซึ่งกระทรวงการคลังเชื่อว่าจะช่วยยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยและช่วยฟื้นฟูระบบการเงินในสหรัฐ

"ปัญหาที่แท้จริงของแผนการดังกล่าวคือมันไม่เวิร์ก และไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน รมว.คลัง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ กำลังดำเนินรอยตามนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังคนก่อน ที่ 'เอาเงินสดไปซื้อขยะ' ซึ่งนี่เป็นยิ่งกว่าความผิดหวัง และทำให้ผมรู้สึกผิดหวังอย่างแรง" ครุกแมนกล่าวกับผู้สื่อข่าวของนิวยอร์ก ไทม์ส

ครุกแมนกล่าวว่า แทนที่จะนำงบประมาณของชาติไปซื้อสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพและขาดสภาพคล่อง รัฐบาลควรรับประกันตราสารหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ควบคุมบริษัทที่เข้าข่ายล้มละลายและสะสางบัญชีทรัพย์สินของบริษัทเหล่านี้ เหมือนกับที่รัฐบาลสวีเดนทำในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ครุกแมนระบุว่า แผนของไกธ์เนอร์เป็นการมองด้านเดียว กล่าวคือหากมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น นักลงทุนก็จะได้กำไร แต่ถ้ามูลค่าลดลง นักลงทุนก็เดินหนีและทิ้งหนี้ไว้ได้ ซึ่งมุมมองเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ตลาดเดินหน้า แต่เป็นวาระซ่อนเร้นที่จ่ายเงินอุดหนุนการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล สเปนซ์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีพ.ศ.2544 กลับมองว่า แผนขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของไกธ์เนอร์มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ แต่จะขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือทั้งในภาครัฐและเอกชน และขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาสินทรัพย์ พร้อมกับสแดงความเชื่อมั่นในฝีมือการทำงานของไกธ์เนอร์

"แผนการดังกล่าวของกระทรวงการคลังค่อนข้างซับซ้อนก็จริง แต่ผมเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะกระทรวงการคลังทำการบ้านมาดี" สเปนซ์กล่าว

ขณะที่ไบรอน เวียน นักวิเคราะห์การลงทุนชื่อดังในตลาดวอลล์สตรีท แสดงความเห็นว่าแผนของกระทรวงการคลังสหรัฐในการขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากงบดุลบัญชีของธนาคารเป็น"มาตรการที่สมเหตุสมผล" และแม้ว่าแผนนี้จะไม่ขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากงบดุลบัญชีของธนาคารได้ทั้งหมด แต่ก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จอย่างมาก สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ