นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เตรียมหารือกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)สัปดาห์หน้า เพื่อสรุปโครงการรักษาสภาพการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม โดยใช้งบประมาณจากโครงการต้นกล้าอาชีพซึ่งล่าสุดมีผู้สมัครร่วมโครงการน้อยกว่าเป้าที่คาดไว้ หรืออาจจะให้รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก
ล่าสุดสถานประกอบการขนาด SMEs ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ราว 300 แห่งได้ยอดรายชื่อพนักงาน 50,000 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการรักษาสภาพการจ้างงาน นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่มีพนักงานราว 70,000 คน สนใจร่วมโครงการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้สถานประกอบการที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้นั้น มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เลิกจ้างพนักงานภายในเวลา 1 ปี
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะเสนอ 6 แนวทาง เพื่อให้ภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่ได้รับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจ ได้แก่ การให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท, ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระเอกชน เช่น การลดภาระที่เกี่ยวข้องกับค่าธรรมเนียม ท่าเรือ ท่าอากาศยานต่างๆ, ขอลดค่าเช่าสถานประกอบการในพื้นที่ปลอดอากรของท่าอากาศยานสุวรรรภูมิ, การปรับลดค่าสัมปทานสถานีขนส่งสินค้าไอซีดีลาดกระบัง, เสนอให้ภาครัฐมีมาตรการให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ตกงานจากภาคขนส่ง
ปัจจุบันผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ได้ส่งผลกระทบต่อคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งติดลบมากที่สุดในรอบ 30 ปี ทั้งนี้ได้ส่งผลกระทบถึงการส่งออกของไทยที่ติดลบอย่างหนัก เกิดปัญหาว่างงานครั้งใหญ่ รวมทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่ตรงจุด เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานแล้วถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เห็นว่ารัฐบาลควรหาทางไม่ให้แรงงานถูกปลดออกจากงานจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนกว่า