นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ในปีนี้ธปท.คงจะต้องมีการทบทวนคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)หลายครั้ง เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมองว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ของไทยยังมีความท้าทายพอสมควร แต่เศรษฐกิจไทยปีนี้คิดว่ารุนแรงน้อยกว่าที่หลายคนประเมินไว้ในตอนแรก
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 52 จะหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 41 ซึ่งหดตัวไป 11% แต่ปีนี้ GDP คงไม่หดตัวไปกว่าปี 41 ซึ่ง ธปท.อยู่ระหว่างทบทวนข้อมูลและจะมีการแถลงประมาณเดือน เม.ย.นี้
"GDP ปี 52 ที่ธปท.ประเมินไว้ล่าสุดที่ 0-2% ทำไว้นานแล้วตั้งแต่ต้นปี ตามปกติ ธปท.จะประมาณการไว้ในช่วงกว้าง ๆ และช่วงกลางปีจะปรับขยับให้แคบลงหากเห็นตัวเลขชัดเจนขึ้น แต่ปีนี้คงต้องมีการทบทวนบ่อยครั้งขึ้นเพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับ IMF และ เวิลด์แบงก์"นางธาริษา กล่าวถึงมุมมองสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดทุนปีนี้
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า นับจากนี้ไปคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พร้อมใช้นโยบายการเงินดูแลเศษฐกิจต่อเนื่องหากมีความจำเป็น แต่จากการดูข้อมูลที่ผ่านมาการใช้นโยบายการเงินมีข้อจำกัด เพราะว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจเป็นไปได้ช้ากว่าปกติที่ช้าอยู่แล้วมากเพราะมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น
ดังนั้น จะหวังใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วย ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกก็ทำงบประมาณขาดดุลอยู่ อย่างน้อยตอนนี้รัฐบาลก็มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะผลักดันมาตรการการคลังออกมาใช้ และการขาดดุลงบประมาณมีขนาดใหญ่ขึ้น เชื่อว่านโยบายการเงินการคลังจะเห็นผลชัดในครึ่งปีหลังปีนี้
นางธาริษา ยังมองว่าวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในขณะนี้ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด แม้ตัวเลขบางตัวออกมาดีขึ้น เช่น ตัวเลขการสร้างบ้าน และบ้านสร้างเสร็จขายดีกว่าเดิมมาก แต่ไม่รู้ว่าตัวเลขเหล่านี้ในเดือนต่อไปจะดีแบบนี้หรือไม่
แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่ดีอยู่ ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วและแรงกว่า เพราะเราไม่มีปัญหาหนี้เสียสูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ หนี้ต่อทุนอยู่ที่ 0.8 เท่า ต่างจากปี 40 ที่อยู่ที่ 2-3 เท่า รวมทั้งไม่มีปัญหาความขาดแคลนสินเชื่อ (credit crunch) ขณะที่ระดับทุนสำรองมีมากพอรองรับความผันผวนของค่าเงินได้
ส่วนกรณีข้อกังวลต่อความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ในอนาคตนั้น นางธาริษา ระบุว่า ธปท. เตรียมความพร้อมในการปรับสกุลเงินในตะกร้าเงินสำรองทุกปีเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ก็เชื่อว่าดอลลาร์คงไม่อ่อนวูบจนหมดความเชื่อมั่น เพราะหลายประเทศลงทุนในดอลลาร์มาก คงจะต้องมีการช่วยกันพยุงเอาไว้ แต่ในระยะยาวดอลลาร์อ่อนค่าแน่ ขณะที่ช่วงนี้มีเงินไหลกลับเข้าไปแก้ไขปัญหาในประเทศทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และในระยะกลางต้องดูว่าดอลลาร์จะเคลื่อนไปในทิศทางใดขึ้นกับตลาดว่ากลัวความเสี่ยงด้านใด