นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มกราคม 2552 มีจำนวน 3,542,858 ล้านบาท หรือ 39.31% ของ GDP
หนี้สาธารณะดังกล่าว เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,208,497 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,047,427 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 169,731 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 113,520 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 3,683 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 71,514 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้น 73,762 ล้านบาท 164 ล้านบาท และ 25,793 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐลดลง 23,394 ล้านบาท และ 4,811 ล้านบาท ตามลำดับ
การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 73,762 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการปรับเพิ่มระดับตั๋วเงินคลัง จำนวน 65,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะดุลเงินสดของรัฐบาลในเดือนดังกล่าว ประกอบกับรัฐบาลได้ทำการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงินรวม 19,000 ล้านบาท
นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกพันธบัตรรัฐบาล 20,000 ล้านบาท และนำเงินไปชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นและเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง 21,913.83 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในส่วนของ FIDF1 วงเงิน 49,999.20 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการกู้เงินระยะสั้นสมทบกับเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (FIDF1 และ FIDF3)มาทดรองจ่ายไปก่อน จากนั้นจึงทยอยออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วง ธ.ค.51-ก.พ.52 เพื่อทยอยชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นและเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังดังกล่าวข้างต้น
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 25,793 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้เบิกจ่ายเงินกู้ระยะสั้น จำนวน 28,000 ล้านบาท
หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 23,394 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการซื้อคืนพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ 3,542,858 ล้านบาท แยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 412,543 ล้านบาท หรือ 11.64% และหนี้ในประเทศ 3,130,315 ล้านบาท หรือ 88.36% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,304,188 ล้านบาท หรือ 93.26% และหนี้ระยะสั้น 238,670 ล้านบาท หรือ 6.74% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง