นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) คาดว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีภายในสิ้นปีนี้จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43-45% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 42% ของจีดีพี
การประเมินดังกล่าวหลังจากรัฐบาลมีแผนกู้เงินในปีงบประมาณ 2552 ในส่วนของการกู้เงินในประเทศ 7 แสนล้านบาท และกู้เงินจากต่างประเทศอีก 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินภายใต้พื้นฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่ระดับ 0% แต่หากจีดีพีขยายตัวติดลบจะส่งผลให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอีก
และ การคาดการณ์สัดส่วนหนี้สาธารณะดังกล่าวยังไม่รวมกับยอดเงินที่รัฐบาลจะนำออกมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสามอีก 1.4 ล้านล้านบาท
สำหรับยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค.52 อยู่ที่ 3.54 ล้านล้านบาท คิดเป็น 39.31% ของจีดีพี โดยเพิ่มขึ้น 71,514 ล้านบาท จากเดือน ธ.ค.51 หรือเพิ่มขึ้น 1.2% ของจีดีพี เนื่องจากการก่อหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงจากเดิม
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวอีกว่า สบน.พร้อมจะให้มีการปรับกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากไม่เกิน 50% เพิ่มเป็น 60% เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป การจัดทำกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ควรให้มีความยืดหยุ่น แต่เห็นว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังไม่ได้มีผลทางกฎหมาย และปัจจุบันการดำเนินนโยบายการคลัง ไม่ได้เป็นไปตามกรอบทั้งหมด
นอกจากนี้ การปรับกรอบความยั่งยืนทางการคลังไม่ได้มีผลต่อการจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ในระยะสั้นภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ ภาระหนี้จะลดลงเอง ส่วนความน่าเชื่อถือของนักลงทุน และต้นทุนการระดมเงินนั้น ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก
"กรอบความยั่งยืนทางการคลัง มี 4 เรื่องหลัก คือการจัดทำงบประมาณแบบสมดุล ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ใช่ สัดส่วนงบลงทุนต้องอยู่ที่ 25% ของงบประมาณรายจ่ายก็ไม่ใช่ เพราะปีงบ 52 อยู่ที่ 22% เท่านั้น ก็เหลือแค่ ภาระหนี้ต่องบประมาณ ยังอยู่ที่ 15% และหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในกรอบ 50%" ผู้อำนวยการ สบน. กล่าว
นายพงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่าการที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก. เพื่อขยายเพดานการกู้เงินเพิ่มเติมนั้นจะออกเป็นการเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ มีข้อจำกัด แต่ทั้งนี้การออก พ.ร.ก.จะต้องกำหนดกรอบการกู้เงินโดยคำนึง 4 เรื่องหลัก คือ ขนาดของวงเงินกู้ที่ต้องมีมากพอ มีการจำกัดเวลาการกู้ การจัดหาแหล่งเงินที่ต้องมีความยืดหยุ่น และ การใช้เงินกู้จะต้องเกิดความยืดหยุ่นเช่นกัน นอกจากนี้ จำเป็นจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจให้ชัดเจน เพราะขณะนี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ นายพงษ์ภาณุ ยังกล่าวปฎิเสธกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลไทยเตรียมกู้เงินจากรัฐบาลจีนมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการเจรจาขอวงเงินกู้ 400 ล้านดอลลาร์จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน แต่ก็ยังไม่มีข้อยุติ เพราะติดเงื่อนไขที่กำหนดว่าหากไทยผิดนัดชำระหนี้จะถูกยึดทรัพย์สินของรัฐบาล และจะต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้าจากจีน
"เรื่องนี้ ยังไม่มีข้อยุติ เพราะการเจรจายังไม่จบ แต่หากรัฐบาลหาข้อยุติได้ก็เป็นเรื่องดี เพื่อมีเงินกู้มากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังติดเงื่อนไข 2 เรื่องนี้อยู่"นายพงษ์ภาณุ กล่าว