องค์การการค้าโลก (WTO) เตือนว่า กลุ่มประเทศสมาชิก WTO มีพฤติกรรมกีดกันการค้ามากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นปีพ.ศ.2552 ซึ่งกำลังส่งผลคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากวิกฤตการณ์การเงิน
นายปาสคาล ลามี ผู้อำนวยการ WTO กล่าวในรายงานที่ส่งถึง 153 ชาติสมาชิกของ WTO ว่า "ประเทศสมาชิก WTO มีพฤติกรรมกีดกันการค้ามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลายประเทศพยายามกีดกันสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่นด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น, อุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศ และใช้มาตรการที่แอบแฝงไว้ด้วยการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศตนเอง"
"แม้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากำลังเกิดสงครามการค้าทั่วโลกที่เคยทำให้เกิดวิกฤตการณ์ Great Depression เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่หายนะที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้คือการที่ชาติมหาอำนาจทางเศษฐกิจพยายามสร้างกฎข้อบังคับที่เข้มงวดเพื่อให้การไหลเวียนด้านการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว ซึ่งการกระทำเช่นนี้กำลังบั่นทอนความพยายามในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกและทำให้ดีมานด์สินค้าจากต่างประเทศลดลงด้วย" ผู้อำนวยการ WTO กล่าว
นายลามีกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนที่หลายประเทศนำมาใช้นั้น จะเป็นผลดีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะมาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการกระตุ้นดีมานด์ทั่วโลกและฟื้นฟูการค้าและการบริการระหว่างประเทศ
"แต่สิ่งที่น่ากังวลและถือว่าเป็นความเสี่ยงในลำดับต้นๆ คือการที่รัฐบาลพยายามเพิกเฉยต่อเสียงวิพาษ์วิจารณ์ที่มีต่อนโยบายกีดกันการค้า ซึ่งท่าทีเช่นนี้จะส่งผลกระทบแบบ 'สะสม' และเมื่อถึงจุดขีดสุดก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างรุนแรงและบั่นทอนความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ" นายลามีเตือน
การค้าโลกซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนั้น ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความมั่งคั่งให้ทั้งกลุ่มประเทศยากจนและร่ำรวย แต่หลังจากนั้นการค้าโลกถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดย WTO คาดการณ์ว่าการค้าทั่วโลกจะหดตัวลง 9% ในปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวรุนแรงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
นโยบายกีดกันการค้าที่หลายประเทศนำมาใช้นั้น จะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในที่ประชุม G20 วันที่ 2 เม.ย.นี้ที่กรุงลอนดอน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่ารายงานของ WTO ฉบับนี้จะทำให้ประเทศที่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ใช้นโยบายกีดกันการค้าในการประชุมเมื่อเดือนพ.ย.ที่กรุงวอชิงตัน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษณ์วิจารณ์ในที่ประชุม G20 ได้
รายงานฉบับล่าสุดของ WTO มีขึ้นในช่วงเวลาที่หลายประเทศพุ่งเป้าโจมตีนโยบาย "Buy American" (ซื้อสินค้าสหรัฐ) โดยหลายฝ่ายมองว่านโยบายดังกล่าวอาจทำให้เกิดสงครามการค้า อีกทั้งเป็นการละเมิดกฏการค้าและทำลายชื่อเสียงของสหรัฐ ที่สำคัญไม่ได้ช่วยการจ้างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นเท่าใดนัก สำนักข่าวเอพีรายงาน