สบน.เร่งศึกษาแนวทางลงทุนภาครัฐ รูปแบบ PPPs เริ่มนำร่องด้านโลจิสติกส์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 27, 2009 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า สบน.จะเร่งประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)เกี่ยวกับแผนการลงทุนของโครงการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2(SP II) เพื่อพิจารณาปรับปรุงแผนการระดมทุนในรูปแบบ PPPs ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และจะได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบภายใน 60 วัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการ PPPs ได้วางแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ประกอบด้วยการกำหนดแนวนโยบายการจัดลำดับความสำคัญโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนร่วมกับภาครัฐในรูปแบบ PPPs โดยจัดโครงการลงทุนของภาครัฐออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ โครงการลงทุนในเชิงพาณิชย์(First Tier) เป็นโครงการที่มีความพร้อมและเอกชนสนใจร่วมลงทุน รวมทั้งประชาชนมีส่วนในการจ่ายค่าบริการ เช่น โครงการลงทุนในสาขาพลังงาน โทรคมนาคม ขนส่งทางอากาศ และขนส่งทางน้ำ

กลุ่มที่ 2 โครงการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจ(Second Tier) ซึ่งมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม(EIRR) สูง แต่ผลตอบแทนทางการเงิน(FIRR) ต่ำ และผู้ใช้บริการสามารถร่วมรับภาระค่าบริการได้ แต่ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนการลงทุนด้วย เช่น โครงการลงทุนในระบบขนส่งมวลชน(Mass Transit) ขนส่งระบบราง ขนส่งทางถนน และที่อยู่อาศัย

และกลุ่มที่ 3 โครงการลงทุนในสาขาสังคม(Third Tier) เป็นโครงการที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม(EIRR) สูง แต่ไม่มีผลตอบแทนทางการเงิน(FIRR) และไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการได้ ภาครัฐจึงมีภาระผูกพันจ่ายคืนการลงทุนแก่เอกชนเป็นรายปี เช่น โครงการลงทุนในสาธารณสุข ทรัพยากรน้ำ และการศึกษา เป็นต้น

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า จากแผนการลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐปี 52-55 วงเงินรวม 1.73 ล้านล้านบาท ได้พิจารณาโครงการลงทุนของภาครัฐทั้ง 3 กลุ่ม เห็นว่ามีโครงการลงทุนของภาครัฐที่มีศักยภาพสามารถดำเนินโครงการในรูปแบบ PPPs ได้ เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการได้เพิ่มขึ้น โดยมีโครงการลงทุนที่สามารถดำเนินการในรูปแบบ PPPs ได้ประมาณ 300,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการ PPPs เห็นชอบให้ปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อสร้างความชัดเจนในการปฏิบัติงานและดำเนินโครงการ PPPs ตามนโยบายรัฐบาล โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สศช., สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุด จัดทำแนวทางการปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป และได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษาแนวทางในการปรับปรุง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือยกร่างกฎหมาย PPPs ใหม่ เพื่อให้มีกฎหมายกำกับการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs เป็นการเฉพาะในระยะต่อไป

และเพื่อให้การดำเนินโครงการในรูปแบบ PPPs มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการฯได้เห็นชอบให้จัดทำโครงการนำร่องในรูปแบบ PPPs โดยในระยะแรกควรเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อประเทศในด้านการลด Logistic Cost และมอบหมายให้ สบน.ประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อจัดเตรียมความพร้อมโครงการนำร่องเพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองและอนุมัติโครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนากรอบการลงทุนในเชิงพาณิชย์(Commercial Framework) การประเมินความสนใจเบื้องต้นของนักลงทุน(Market Sounding) ในการร่วมลงทุนในโครงการนำร่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ