TDRI ติงรัฐใจเร็วผ่านโครงการกระตุ้นศก.รอบ 2 ห่วงนักการเมืองแบ่งเค้ก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 27, 2009 18:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ระบุว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลระยะที่ 2 มูลค่าลงทุน 1.56 ล้านล้านบาท ใช้เวลาเพียง 1 เดือนในการตัดสินใจถือว่าเร็วเกินไป แม้จะมีแผนงานอยู่แล้วทั้ง 7 แผนก็ตาม เพราะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่มีวงเงินลงทุนมาก เสี่ยงต่อการแบ่งเค้กของฝ่ายการเมือง รวมทั้งยังมีการเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลอยู่มาก จึงอาจทำให้เกิดปัญหาได้

รัฐบาลควรใช้เวลาจัดทำโครงการให้มากกว่านี้ ต้องจัดคณะรัฐมนตรีสัญจรลงพื้นที่ให้ทั่วถึงเพื่อรับฟังความต้องการของประชาชนที่แท้จริง ที่สำคัญต้องนำงบประมาณลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาบูรณาการร่วมกันเป็นก้อนเดียวแล้วจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการให้ชัดเจน และลงทุนให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีแผนสำรองเพื่อรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรการด้านการคุ้มครองหรือการกีดกันทางการค้าที่หลายประเทศกำลังนำมาออกใช้ ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนการพึ่งพารายได้จากการส่งออกมาเป็นรายได้จากในประเทศให้เร็วที่สุด เพราะอนาคตการบริโภคของสหรัฐฯ จะลดลงมาก และการแข่งขันทางการค้าจะทวีความรุนแรง

นายนิพนธ์ ยังเห็นด้วยที่รัฐบาลจะเร่งจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะยังมีพวกที่หลีกเลี่ยงภาษีอยู่มากโดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้จะมีมูลค่าไม่มากแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญ และต้องหามาตรการจูงใจเพื่อดึงพวกที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ โดยเฉพาะการใช้กฎหมายนิรโทษกรรม

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนกว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างแท้จริง ซึ่งตามปกติการเซ็นสัญญาในโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ ดังนั้นจึงจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้โครงการลงทุนตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลระยะที่ 2 สามารถเปิดประมูลได้ก่อนที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก เพื่อให้สามารถเซ็นสัญญาและเดินหน้าโครงการได้เร็วขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รัฐบาลต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุน เพราะไม่ต้องการแย่งเงินในประเทศกับภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเงินกู้ของเอกชนเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ต้องนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ดูแลสภาพคล่อง ขณะเดียวกัน จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่พร้อมเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาลในรูปแบบ PPP เพื่อลดภาระงบประมาณด้วยส่วนหนึ่ง และแม้ส่วนตัวจะไม่ชอบ เพราะต้นทุนสูง ตัดสินใจยาก และเสี่ยงต่อเรื่องความโปร่งใสก็ตาม เพราะเอกชนจะบวกต้นทุนด้านความเสี่ยงของรัฐบาลไว้สูงมาก และส่วนใหญ่การลงทุนเช่นนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของนักธุรกิจที่ไม่ดีเพราะสามารถตีหัวเข้าบ้านได้ทันที โดยยืนยันว่าการลงทุนในลักษณะ PPP อาจมีไม่มากนัก

"มาตรการเร่งด่วนน่าจะเพียงพอต่อการรองรับปัญหาเศรษฐกิจได้ เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะปัจจัยต่างๆ เริ่มดีขึ้น แต่รัฐบาลต้องเดินหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยั่งยืน ด้วยการเน้นโครงการที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน การลงทุน แต่เห็นผลเร็ว"นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ