ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร ปอนด์ และฟรังค์สวิส ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 มี.ค.) หลังจากมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าอีซีบีจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ขณะที่เงินปอนด์ดิ่งลงหลังจากทางการอังกฤษเปิดเผยว่าเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงในไตรมาส 4
สำนักข่าวเอพีรายงานวา ค่าเงินยูโรร่วงลง 1.77% แตะระดับ 1.3293 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.3532 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์อ่อนตัวลง 0.84% แตะระดับ 1.4317 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.4438 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้น 1.53% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1444 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.1272 ฟรังค์/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลง 0.90% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 97.850 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 98.740 เยน/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 1.21% แตะระดับ 0.6935 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 0.7020 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.82% แตะระดับ 0.5693 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.5740 สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
เจฟฟรี หยู นักวิเคราะห์จากยูบีเอส เอจี กล่าวว่า ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่าอีซีบีอาจเดินตามรอยรัฐบาลสหรัฐและญี่ปุ่นในการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สกุลเงินยูโรหมุนเวียนในระบบการเงินของยุโรปมากขึ้น
ในช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะใช้มาตการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครอบคลุมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และเพิ่มการรับซื้อตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) อีก 7.50 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการเข้าซื้อตราสารประเภทดังกล่าวของเฟดในปีนี้พุ่งขึ้นเป็น 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะคลี่คลายภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคประจำเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากพุ่งขึ้น 1% ในเดือนม.ค.
ค่าเงินปอนด์ได้รับแรงกดดันจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอังกฤษที่หดตัวลง 1.6% จากระดับไตรมาส 3 ขณะที่ยอดการก่อสร้างภายในประเทศร่วงลง 4.9% และยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคอ่อนตัว 1%
ส่วนค่าเงินยูโรได้รับปัจจัยลบจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าอีซีบีจะลดดอกเบี้ยลงอีก และหลังจากสถาบัน Ifo ของเยอรมนีระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจประจำเดือนมี.ค.ร่วงลงแตะ 82.1 จุด จากระดับ 82.6 จุดในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2525
ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลงอย่างหนัก หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาตินิวซีแลนด์เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวลง 0.9% ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวลงครั้งแรกในรอบกว่า 16 ปี เนื่องจากการทรุดตัวลงของอุตสาหกรรมสร้างบ้านและยอดส่งออก อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย