นายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานจำนวน 1.5 ล้านคนไว้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงมากกว่านี้ แต่จะดูแลด้วยความระมัดระวังและรอบคอบไม่ให้ส่งผลกระทบเรื่องวินัยการเงินการคลัง โดยมั่นใจแผนขยายเพดานหนี้สาธารณะชั่วคราวไปอยู่ที่ 60% ของจีดีพี ยังคงเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
"ผมเรียนยืนยันว่าแนวทางนี้จำเป็น...พอเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นมาเราก็จะได้พร้อมเดินได้วิ่งได้" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBTเช้านี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การกู้เงินไม่ใช่เรื่องที่สลับซับซ้อนอะไร เหมือนกับการทำธุรกิจที่บางครั้งต้องกู้ยืมมาลงทุน แต่อาจต่างกันตรงที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระทั้งหมดไว้ ไม่สามารถผลักภาระออกไปได้ และเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งที่จะเอามาเสริมการใช้งบประมาณตามปกติ และการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ส่วนการจัดเก็บรายได้เพิ่มนั้นจะมุ่งไปที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
"ในส่วนของบริษัทดูฐานะตัวเอง บางทีอาจต้องเลิกจ้าง คนที่ถูกเลิกจ้างก็กลับไปสู่สังคมที่เป็นนอกองค์กร แต่สำหรับประเทศในภาพรวม เราไปมองอย่างนั้นไม่ได้ ถ้ารัฐบาลอยู่เฉยแล้วคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้าน(คน) 3 ล้าน(คน)ก็กลับมาเป็นปัญหาสังคม...ไตรมาสที่แล้วติดลบ 4(%) ทั้งปีนี้ถ้าไม่ทำอะไรเลยอาจจะติดลบ 9(%)" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐบาลเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง โดยใช้เม็ดเงินลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้าจำนวน 1.5 ล้านล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาจจะมีการแก้ไขกฎหมายเฉพาะกิจเพื่อขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะชั่วคราวจากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 50% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 60% ของจีดีพี ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในภาวะที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจทุกประเทศจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20%
"หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ได้มีเงื่อนไขตายตัว ในประเทศที่พัฒนาแล้วเห็นแล้วจะตกใจอยู่ที่ 70(%) 80(%) หรือเกิน 100(%) แต่ของเราอยู่ที่ 38(%) กำลังไต่ขึ้นไปคาดว่าภายในปีนี้ขยับเข้าไปใกล้ 50(%) จะพยายามดูแลไม่ให้ไปไกลกว่านั้น...ประมาณ 60(%)ยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว