คลังนำระบบ SEPA ประเมินผลรัฐวิสาหกิจ พัฒนาองค์กรให้มีกำไร-ต้นทุนต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2009 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดงานสัมมนาชี้แจงนโยบายเรื่อง ระบบการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจว่า รัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องมีการพัฒนาการดำเนินงานและการบริหารจัดการ จึงได้มีการนำระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Performance Appraisal:SEPA) เพื่อใช้ในการติดตามการดำเนินงานข้องรัฐวิสาหกิจ โดยมีข้อมูลที่เพียงพอให้การปรับปรุงการดำเนินงาน ลดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ โดยมุ่งหวังให้รัฐวิสาหกิจมีการดำเนินงานที่สร้างผลกำไร โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง

รัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังกำกับดูแล 58 แห่งที่มีทรัพย์สินรวมกว่า 6.86 ล้านล้านบาท สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 1 แสนล้านบาท และสร้างการจ้างงานกว่า 270,000 ล้านคน

"ปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้ารัฐ 86,000 ล้านบาท และมีงบลงทุน 290,000 ล้านบาท แต่ยังมีการเบิกจ่ายล่าช้า และรายได้นำส่งรัฐไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งระบบ SEPA จะช่วยให้มีข้อมูลการทำงานของรัฐวิสาหกิจเพียงพอ ใช้ปรับปรุงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เป็นข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น" นายพฤฒิชัย กล่าว

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ(กนร.)เห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง มีบทบาทชัดเจนในการพัฒนาองค์กรให้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ จึงได้นำระบบ SEPA มาใช้ ประเมินผลการทำงาน ซึ่งในปี 51 ได้เริ่มทดลองใช้กับรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือ บมจ.ปตท.(PTT) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

และในปี 52 คณะกรรมการประเมินผลกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมด้านการบริหารจัดการองค์กร 6 แห่ง เข้าสู่ระบบ SEPA เป็นกลุ่มแรก ประกอบด้วย PTT, กฟน., ธ.ก.ส., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และ รัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 1 แห่ง คือ บมจ.การบินไทย (THAI)

ในช่วง 2 ปีแรก ของการเข้าสู่ระบบให้รัฐวิสาหกิจเตรียมความพร้อมและจัดทำระบบประเมินผลตนเองควบคู่ระบบประเมินของ SEPA และ ได้ตั้งเป้าให้ฐวิสหากิจทั้ง 58 แห่ง เข้าสู่ระบบ SEPA ภายใน ปี 56

"การที่ให้การบินไทยเข้าสู่ระบบ SEPA ด้วย เนื่องจากทางคลัง และ ก.คมนาคม ได้หารือกันแล้วว่าเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทที่ต้องการให้ไปจุดไหน และบอร์ดต้องมีการจัดทำแผนพลิกฟื้นกิจการ ดังนั้น ระบบนี้จะทำให้ให้บริษัทมีกลยุทธ์การทำงานที่ชัดเจนตามยุทธศาสตร์ และถ่ายทอดกระบวนการให้พนักงานได้เข้าใจและเริ่มปรับกระบวนการทำงาน" นายอารีพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ การประเมินผลในระบบ SEPA เป็นระบบที่พัฒนาบนพื้นฐานของเกณฑ์การประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ(Thailand Quality Award:TQA)และเป็นระบบที่ต่างประเทศให้การยอมรับ โดยแบ่งมุมมองการพิจารณาเป็น 7 หมวด คือ การนำองค์กรรัฐวิสาหกิจ การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ การมุ่งเน้นลูกค้า ผู้รับบริการ และการตลาด การวัด วิเคราะห์ และการจัดการความรู้ การมุ่งเน้นบุคลากร การจัดกระบวนการ และผลสัมฤทธิ์


แท็ก รัฐวิสาหกิจ   tat   AIS   APP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ