สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐแสดงความไม่พอใจและโกรธแค้นคณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ปฏิเสธแผนปรับโครงสร้างของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และไครสเลอร์ โดยระบุว่ารัฐบาลปฏิบัติกับอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างแข็งกร้าว แตกต่างจากภาคการธนาคารที่รัฐบาลพยายามประคับประคองอย่างถึงที่สุด
นายไบรอัน เฟรดไลน์ ประธานสหภาพ UAW Local 602 กล่าวว่า "การปะทะกันระหว่าง 'วอลล์สตรีทหัวเก่า กับ เมนสตรีท' วนกลับมาอีกครั้ง รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อระดมทุนให้กับภาคการธนาคาร โดยอ้างเหตุผลแค่ว่า 'ธนาคารใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม' แต่กลับให้เหตุผลกับอุตสาหกรรมรถยนต์ว่า 'ใหญ่เกินกว่าจะรับผิดชอบได้' เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติกับอุตสาหกรรมรถยนต์และชนชั้นกลาง"
พนักงานในอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐซึ่งยังไม่รู้ชะตากรรมของผู้บริหารของพวกเขา ได้แสดงความเห็นใจต่อนายริก วาโกเนอร์ ซีอีโอจีเอ็มที่ถูกรัฐบาลสหรัฐบีบให้ลาออก โดยต่างก็นิยามนายวาโกเนอร์ด้วยถ้อยคำต่างๆกันว่า "ลูกแกะที่ถูกนำไปเป็นเครื่องบูชา, แพะรับบาป และคนโชคร้าย"
"เรารู้ดีว่าต้องมีใครสักคนยอมโดดเข้ารับกระสุน แต่จะเราจะรู้สึกดีกว่าถ้ามีซีอีโอสักคนในภาคการธนาคารถูกบีบให้ลาออกในลักษณะเดียวกัน ในขณะที่รัฐบาลบีบซีอีโอของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีเอ็มจนกระเด็นออกจากตำแหน่ง แต่รัฐบาลกลับปล่อยให้บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (เอไอจี) จ่ายโบนัสให้ผู้บริหาร" นายจิม เกรแฮม ประธานสหภาพอุตสาหกรรมรถยนต์ในรัฐโอไฮโอกล่าว
นอกจากนี้ เกรแฮมกล่าวว่า "รัฐบาลรู้อยู่เต็มอกว่ามีประชาชนหลายล้านคนต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมรถยนต์ เราต่างก็รู้ว่า การล้มละลายของเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และไครสเลอร์ หรือแม้แต่ฟอร์ด มอเตอร์ จะต้องส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม" สำนักข่าวเอพีรายงาน