(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย มี.ค.52 CPI ลดลง 0.2% แต่ Core CPI เพิ่มขึ้น 1.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 1, 2009 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)ในเดือน มี.ค.52 อยู่ที่ 103.6 ลดลง 0.2% จากเดือน มี.ค.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือน ก.พ.52

และ CPI เฉลี่ยช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.52) ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน มี.ค.52 อยู่ที่ระดับ 102.8 เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือน มี.ค.51 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ก.พ.52

และ Core CPI เฉลี่ยช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.52) เพิ่มขึ้น 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีสินค้าหมวดอาหารในเดือน มี.ค.52 อยู่ที่ 115.4 เพิ่มขึ้น 9.3% จากเดือน มี.ค.51 และเพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือน ก.พ.52 ขณะที่ดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารในเดือน มี.ค.52 อยู่ที่ 96.0 ลดลง 6.5% จากเดือน มี.ค.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือน ก.พ.52

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตัวเลข CPI มี.ค.52 ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 12.6% และหมวดเคหะสถาน 5% , ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น เช่น ข้าว สัตว์น้ำ ไก่สด ไข่ ผลิตภัณฑ์นม อาหารสำเร็จและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์, หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 1.5% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 0.5%

ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาตัวเลข CPI เฉลี่ยไตรมาส 1/52 ที่ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 26.5% ค่ากระแสไฟฟ้า 27.1% และค่าน้ำประปา 43.7% ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 10% และดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 6.9%

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นในเดือนมี.ค.เป็นเดือนแรกนับตั้งแต่ ธ.ค.51 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาผักและผลไม้ เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง

ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ปัจจัยสำคัญยังเป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ รวมทั้งค่าใช้จ่ายและค่าบริการส่วนบุคคล ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด วัสดุก่อสร้าง สุรา และแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 52 ไว้ที่ 0.0-0.5% ขณะที่สมมติฐานทั้งด้านราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ยังคงอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 44 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 36.02 บาท/ดอลลาร์

ราคาน้ำมันดิบดูไบ ล่าสุด สิ้น มี.ค.52 เฉลี่ยอยู่ที่ 48.17 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ สิ้น มี.ค.52 เฉลี่ยอยู่ที่ 58.10 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้น มี.ค.52 อยู่ที่ 35.66 บาท/ดอลลาร์

นายศิริพล กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลจัดโครงการ"เช็คช่วยชาติ" 2,000 บาทให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน จะมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน เม.ย.52 ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากเป็นการช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน ซึ่งส่งผลให้กำลังการผลิตของผู้ประกอบการยังคงไม่หดหาย

"เมื่อกำลังการผลิตที่มีอยู่ไม่หดหาย มีการผลิตใกล้เคียงของเดิม ต้นทุนเท่าเดิม ซึ่งหากมีอำนาจซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นในระบบ ก็จะสามารถช่วยในภาพรวมได้ดี" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ที่รวบรวมล่าสุดในเดือน ก.พ.52 เช่น มาเลเซีย อยู่ที่ 3.7% ฟิลิปปินส์ 7.3% อินโดนีเซีย 8.6% สิงคโปร์ 1.9% เวียดนาม 14.8% สหรัฐ 0.2% ขณะที่ จีน ติดลบ 1.6% ไต้หวัน ติดลบ 1.3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ