สศค.คาดส่งออก มี.ค.ติดลบจากอุปสงค์หดหาย ฉุดจีดีพี Q1/52 ต่ำกว่า Q4/51

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 1, 2009 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) โดยสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่องมองเศรษฐกิจไทยผ่านวิกฤติส่งออกและนำเข้า โดยคาดว่าในเดือน มี.ค.52 มูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้าจะหดตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก ประกอบกับฐานที่สูงมากในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ สศค.คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในไตรมาส 1 ปีนี้จะหดตัวมากกว่าไตรมาส 4 ปี 51

"จากมูลค่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ก.พ.52) ซึ่งอยู่ที่ -19.2% ทำให้ สศค.คาดว่า Real GDP ไตรมาส 1 ปี 52 จะหดตัวลงมากกว่าไตรมาส 4 ปี 51" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ในเดือน ก.พ.52 กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ -11.3% และมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ -40.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3,576 ล้านดอลลาร์

สศค. มองว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือน ก.พ.52 ลดตัวลง ได้แก่ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักหดตัวรุนแรง ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวลง โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนถึง 75.3% ของมูลค่าการส่งออกรวม, การแข่งขันด้านราคาของประเทศคู่แข่งทางการค้า เพราะต้องการระบายสินค้าส่งออกที่ยังค้างสต๊อก

อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่ยังหดตัวน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์นั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากในเดือน ก.พ.52 มีวันทำการมากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน, เดือนนี้มีการส่งออกทองคำแท่งสูงถึง 1,865 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวถึง 1,148% เพราะหากพิจารณามูลค่าการส่งออกโดยไม่รวมการส่งออกทองคำแล้วจะทำให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ.52 อาจหดตัวถึง -24.6%

ส่วนปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าในเดือน ก.พ.52 หดตัว ได้แก่ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง จึงทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกลดลงตาม, นักลงทุนชะลอการลงทุน เนื่องจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนาน ทำให้มีการชะลอการซื้อสินค้าทุน, ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศลดลงโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว และราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการเกินดุลการค้าในเดือน ก.พ.52 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าการส่งออก

สศค.มองว่า การส่งออกสินค้าของไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะหากพิจารณาโครงสร้างการส่งออกแล้วจะพบว่า สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 75.3% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด รองลงมาเป็นสินค้าเกษตรมีสัดส่วน 11.3% สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีสัดส่วน 6.8% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีสัดส่วน 6.6% ซึ่งปรากฎว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยต่างหดตัวลงทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่า โดยปริมาณการส่งออก -18.8% และมูลค่าการส่งออก -16.9%

ขณะที่โครงสร้างการนำเข้าพบว่า สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีสัดส่วนมากสุดถึง 43.4% ของสินค้านำเข้าทั้งหมด รองลงมาเป็นสินค้าทุนมีสัดส่วน 24.2% สินค้าเชื้อเพลิงมีสัดส่วน 20.9% สินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วน 8.3% และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีสัดส่วน 3.1% ซึ่งปรากฎว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปต่างหดตัวลงทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าเช่นกัน โดยปริมาณการนำเข้า -46.5% และมูลค่าการนำเข้า -45.3%

สศค.ชี้ว่า ยุทธศาสตร์สำหรับการส่งออกปีนี้ ในมิติของคู่ค้าคือ ควรเร่งหาตลาดใหม่ เพิ่มปริมาณการค้าภายในภูมิภาค ส่วนมิติด้านสินค้านั้นเห็นว่า ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยหดตัวอย่างรุนแรง แต่สินค้าเกษตรไทยยังมีโอกาสและศักยภาพในการแข่งขัน เพราะการหดตัวยังไม่รุนแรงมากเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเกษตร

"ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เพราะหากการส่งออกขยายตัวได้ดีจะส่งผลให้เกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคภาคประชาชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่ง และสนับสนุนให้ประเทศในภูมิภาคร่วมฟื้นเศรษฐกิจอย่างสอดคล้องและต่อเนื่อง จึงจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวเร็วขึ้น ท้ายสุดจะส่งผลให้การส่งออก การผลิต และการจ้างงานฟื้นตัวอย่างยั่งยืน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ