นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่าภาคเอกชนเดินหน้าลงทุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทในระยะ 3 ปีข้างหน้า แม้ทั่วโลกเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังมีความสำคัญที่จะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการรักษาระดับปริมาณสำรองปิโตรเลียมไว้รองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงในอนาคต
เงินลงทุนที่จะใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยของผู้ประกอบการในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้จะใช้เงินลงทุน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย ทั้งนี้จะเป็นเงินที่กลุ่มสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะใช้ลงทุนในไทยเฉลี่ยปีละ 130,000 ล้านบาท
นายคุรุจิต กล่าวว่า เชฟรอนให้ความสำคัญต่อการลงทุนในไทย โดยได้ตั้งเชฟรอนประเทศไทยดูแลพื้นที่ประเทศเวียดนาม บังกลาเทศ พม่า จีน และกัมพูชา ขณะที่ปีก่อนเชฟรอนได้เจาะหลุมสำรวจและผลิต 400 หลุม เพื่อจะรักษาระดับปริมาณก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ
ขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ 3.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดย ประมาณ 73% เป็นการผลิตก๊าซธรรมชาติจากในประเทศ โดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายจะให้ผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยนำน้ำมันดิบและคอนเดนเสทขึ้นมาให้ได้ 2.5 แสนบาร์เรล/วันภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่ทำได้แล้วกว่า 2.4 แสนบาร์เรล/วัน
สำหรับผู้ที่ได้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 20 ขณะนี้มีผู้ได้รับสัมปทานแล้วทั้งสิ้น 11 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ได้เริ่มดำเนินการสำรวจแล้ว แต่คงเหลือกลุ่ม บมจ.ทีพีไอโพลีน(TPIPL) ที่ได้รับสัมปทานรวม 2 ราย จำนวน 5 แปลงสัมปทาน ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการ และกระทรวงอยู่ระหว่างการติดต่อสอบถามว่าจะดำเนินการต่อไปหรือไม่
ด้านนายธารา ธีรธนากร ประธานกรรมการบริหารบริษัท เชฟรอนประเทศไทย กล่าวว่า เชฟรอนยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนในไทยต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามแผนลงทุนระยะยาว 10 ปี โดยเมื่อต้นปีที่แล้วเชฟรอนได้ประกาศแผนลงทุนมูลค่าราว 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปลาทอง ระยะที่ 2 ในอ่าวไทย ซึ่งจะเป็นการลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2550 จนถึงสิ้นสุดโครงการในปี 2565