แผนฟื้นฟูขสมก.-รฟท. ยังไม่ผ่าน คาดส่งให้ครม.พิจารณาไม่ทัน 7 เม.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 2, 2009 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ในวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปแผนฟื้นฟูกิจการของทั้งสองแห่ง โดยเบื้องต้นทุกฝ่ายยอมรับในหลักการที่รัฐบาลจะต้องชดเชยรายได้จากการให้บริการเชิงสังคมให้ขสมก.และรฟท. แต่ยังมีประเด็นรายละเอียดที่ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เช่น กรณีรถโดยสารปรับอากาศของ ขสมก. ผู้แทนกระทรวงการคลังเห็นว่าไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการชดเชย แต่ในส่วนของรถโดยสารธรรมดา หรือรถร้อนนั้น จะได้รับการชดเชยเป็นเงินประมาณปีละ 1,128 ล้านบาท

“ในที่ประชุมมีความเห็นต่างกัน ในเรื่องของการคำนวณต้นทุนและหลักการในการชดเชยรายได้จากการให้บริการรถโดยสารปรับอากาศ และความมั่นใจในการจัดตั้งบริษัทลูกของ รฟท. จึงได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง หลังจากนั้นจะเสนอเรื่องให้ครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งคงไม่ทันการประชุมครม.ในวันที่ 7 เม.ย.นี้" นายโสภณ กล่าว

ส่วนกรณีของ รฟท.นั้น จะได้รับการเงินชดเชยในส่วนของรายได้จากการให้บริการผู้โดยสารชั้น 3 คิดเป็นเงินประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท แต่ที่ยังมีปัญหาคือความชัดเจนในการจัดจัดตั้งบริษัทลูกที่จะทำหน้าที่บริหารจัดการเดินรถ ซึ่งผู้แทนกระทรวงการคลังมีความกังวลว่าบริษัทลูกดังกล่าวจะไม่คล่องตัวในการบริหารงาน และจะเป็นองค์กรที่มีปัญหาเหมือนเช่น รฟท.ในปัจจุบัน

ในวันนี้กระทรวงคมนาคมได้ร่วมหารือกับผู้แทนสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณาการกำหนดแนวทางการชดเชยรายได้จากการให้บริการเชิงสังคม หรือ พีเอสโอ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการของขสมก.และรฟท.

นายโสภณ ยังกล่าวอีกว่า ความล่าช้าในการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท.ให้ครม.พิจารณานั้น ไม่มีปัญหาทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของการดำเนินงานที่จะต้องพิจารณารายละเอียดของแผนงานอย่างรอบคอบ ซึ่งในหลักการทุกฝ่ายเข้าใจดีกว่า รฟท. และ ขสมก. จะต้องได้รับการฟื้นฟู เพราะประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาเป็นเวลานาน และส่วนตัวก็มีความตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

ด้านนายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า เบื้องต้นขสมก.ขอรับการชดเชยเป็นเงิน 3,938 ล้านบาท แบ่งเป็นการชดเชยจากการให้บริการรถโดยสารธรรมดา 1,617 ล้านบาท รถโดยสารปรับอากาศ 2,321 ล้านบาท สาเหตุที่ต้องขอรับการชดเชยเพราะปัจจุบันค่าโดยสารไม่สามารถปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้ประสบปัญหาขาดทุน ขณะที่การให้บริการรถโดยสารปรับอากาศต้องจัดเก็บค่าโดยสารสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และพระสงฆ์ ในราคาต่ำ

แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้แทนจากกระทรวงการคลังไม่พิจารณาชดเชยรายได้จากการให้บริการรถโดยสารปรับอากาศ เพราะถือว่าบริการดังกล่าวเป็นทางเลือกของประชาชน ส่วนการปรับลดเงินชดเชยจากรายได้การให้บริการรถโดยสารธรรมดานั้น เนื่องจากคำนวณต้นทุนจากค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการเพียงอย่างเดียว โดยไม่รวมค่าเสื่อม ค่าบำนาญ ค่าฝึกอบรมพนักงาน ซึ่งวิธีการคำนวณดังกล่าวใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับหน่วยงานทุกแห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ