ผู้เชี่ยวชาญ คาดเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องยาวถึง พ.ค.อาจเกิดเงินฝืดทางเทคนิค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 3, 2009 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน เม.ย.52 อาจยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือน มี.ค.โดยยังเป็นทิศทางที่ติดลบและอาจจะต่อเนื่องไปถึงเดือน พ.ค.

"เงินเฟ้อเดือนเม.ย. และ พ.ค. จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ มี.ค.ประมาณเรี่ย ๆ 0%"แหล่งข่าว กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อย่างไรก็ตาม การที่อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกันหลายเดือนไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเสมอไป เพราะการจะชี้ว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายด้านประกอบกัน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ, ภาวะการจ้างงาน, อัตราการจ้างงาน, ปริมาณเงินในระบบ เป็นต้น ซึ่งหากจะเกิดเงินฝืด ก็เชื่อว่าจะเป็นแค่เงินฝืดทางด้านเทคนิคเท่านั้น ไม่ใช่ภาวะเงินฝืดจริงที่เกิดขึ้น "การเกิดเงินฝืดไม่ได้ดูที่ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบอย่างเดียว เคยไหมที่ราคาน้ำมันขึ้นไปถึง 140 ดอลลาร์ แล้วลดฮวบลงมาเหลือ 40 ดอลลาร์ในช่วงไม่กี่เดือน การมีนโยบายใช้ประปา ไฟฟ้า รถเมล์ฟรี ในอดีตก็ไม่เคยมี การที่มีนโยบายใหม่ๆ ออกมา เงินเฟ้อจะเปลี่ยนไปตามนโยบาย เช่น เรื่องไฟฟ้า ประปา ที่แม้ราคาไม่ได้ลดลง แต่มีมาตรการที่ทำให้ผู้บริโภครับภาระค่าใช้จ่ายน้อยลง เงินเฟ้อก็ต้องลดลง" แหล่งข่าว ระบุ

แหล่งข่าว ยังเชื่อว่าหากเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนว่าประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงจะต้องนำเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ออกมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และคงไม่ปล่อยให้ประเทศต้องเดินเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายอัตรเงินเฟ้อในปี 52 ไว้ที่ระดับ 0-0.5% จากล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.52 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.2% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาสแรกปีนี้ลดลง 0.3%

ด้านสถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI)ประเมินว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี 52 จะยังชะลอตัวลงต่อเนื่องที่ระดับประมาณ -1.5 ถึง -1.75% พร้อมคาดว่าเงินเฟ้อจะหดตัวลงต่อเนื่องจนถึงปลายไตรมาส 3/52

การปรับลดลงต่อเนื่องของระดับอัตราเงินเฟ้อมีปัจจัยสำคัญจากฐานระดับราคาสินค้าที่มีความแตกต่างกันมาก รวมถึงภาวะการบริโภคในประเทศที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือได้ว่าจากปัจจัยทั้งสองด้านจะเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยจนถึงช่วงปลายไตรมาส 3 จะยังคงมีการหดตัวลงอยู่ในแดนลบอย่างต่อเนื่อง

"การชะลอตัวลงของภาคการบริโภคในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะกดดันให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ปรับขึ้นในระยะอันใกล้ ดังนั้น SCRI คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกจะยังติดลบต่อเนื่อง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ-1.5% ถึง -1.75% โดยจุดต่ำสุดของเงินเฟ้อช่วงครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ -3.0% ถึง -4.0%"เอกสารเผยแพร่ในบทวิเคราะห์ของ SCRI ระบุ

แต่อย่างไรก็ดี การคาดการณ์การหดตัวลงต่อเนื่องของเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1-3 ยังไม่ได้บ่งบอกว่าปัญหาเงินฝืด (Deflation) กำลังคุกคามเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากเมื่อหักปัจจัยเรื่องการเข้าแทรกแซงราคาทางด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาลแล้ว ระดับอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสามารถที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะเงินฝืดในทางทฤษฎี

SCRI ยังมองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/52 หลังจากหมดอายุ 5 มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ส่งผลให้โดยรวมแล้วประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 52 จะอยู่ที่ประมาณ -0.8% ซึ่งลดลงจากระดับ 5.5% ในปี 51 อย่างชัดเจน

"การหดตัวเนื่องของเงินเฟ้อจะเป็นแค่ระยะสั้นเท่านั้น เชื่อว่าครึ่งปีหลัง เมื่อราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่างๆ ของรัฐบาลยกเลิกและกลับมาเก็บค่าบริการตามปกติ คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ปกติ ทำให้ในภาพรวมแล้วความเสี่ยงที่จะเกิดเงินฝืดจากปัจจัยการหดตัวอย่างรุนแรงของอุปสงค์ในประเทศนั้น ถือว่ามีโอกาสน้อยอยู่ในขณะนี้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ