นักวิเคราะห์ในแวดวงวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า จำนวนคนว่างงานในสหรัฐจะพุ่งขึ้นอีกในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หลังจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payroll) ประจำเดือนมี.ค.ร่วงลง 663,000 ตำแหน่ง และอัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 8.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 ปี
โจชัว ชาปิโร หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัท Maria Fiorini Ramirez Inc ในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า "บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ รวถึงบริษัท อินเตอร์เนชันแนล บิสิเนส แมชีนส์ คอร์ป (ไอบีเอ็ม) และบริษัท ยูเอส โพสทัล เซอร์วิส (ยูพีเอส) ประกาศปลดพนักงานจำนวนมากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ผลประกอบการของบริษัทหดตัวลง เราคาดว่าสถานการณ์ในตลาดแรงงานสหรัฐจะตึงตัวต่อไปอีก 2-3 เดือนข้งหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนลดการใช้จ่ายและจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยรุนแรงขึ้น"
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 4 ของสหรัฐหดตัวลง 6.3% ต่อปี ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวลงครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2525 ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วงลงของยอดส่งออก ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค และอัตราการลงทุนในทุกภาคส่วน รวมถึงการลงทุนด้านอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ แม้รัฐบาลสหรัฐพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคเอกชนก็ตาม
ทั้งนี้ ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคของสหรัฐในไตรมาส 4 ลดลง 4.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปีพ.ศ.2523 ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายภาคธุรกิจลดลง 28.1%
ไมเคิล เฟโรลี หัวหน้านักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนกล่าวว่า "ตัวเลขว่างงานที่ร่วงลงอย่างรุนแรงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ให้ต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รวมถึงมาตาการกระตุ้นการจ้างงาน เพื่อยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยรุนแรง นอกจากนี้ โอบามายังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้าน รวมถึงการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิต และภาคบริการ ที่ทรุดตัวลงอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน