ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์อย่างคับคั่งหลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กและยุโรปดิ่งลงถ้วนหน้า อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้น 0.68% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 100.98 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 100.30 เยน/ดอลลาร์ และดีดขึ้น 0.58% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1371 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1305 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.62% แตะที่ระดับ 1.3396 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.3480 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์อ่อนตัวลง 0.71% แตะระดับ 1.4725 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.4830 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.45% แตะที่ 0.7116 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.7148 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.5867 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.5855 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบ 41.74 จุด หรือ 0.52% แตะที่ 7,975.85 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากดัชนีทะยานขึ้นแข็งแกร่งเมื่อหลายวันก่อน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเรื่องผลประกอบการที่อ่อนแอในภาคเอกชนและปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคธนาคาร
นักวิเคราะห์ในแวดวงวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า จำนวนคนว่างงานในสหรัฐจะพุ่งขึ้นอีกในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หลังจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนมี.ค.ร่วงลง 663,000 ตำแหน่ง และอัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 8.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 ปี
ส่วนค่าเงินยูโรและเงินปอนด์ดิ่งลงหลังจากจิม โอนีล หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจโลกของโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า ยุโรปจะเป็นภูมิภาคที่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การเงินโลกช้าที่สุด เนื่องจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายของยุโรปยังพยายามไม่มากพอในการใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
"เราคาดว่ายุโรปจะฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การเงินช้ากว่าประเทศอื่นๆในโลก เพราะยุโรปยังล้าหลังประเทศอื่นๆในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยุโรปไม่มีปัจจัยสำคัญๆในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนเอง เพราะต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอกมาโดยตลอด นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรปยังตื่นตัวน้อยกว่าธนาคารกลางอื่นๆของโลก อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยจนเกือบแตะระดับ 0% และยังใช้มาตรการเชิงรุกด้วยการเข้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินภายในประเทศ" นักวิเคราะห์โกลด์แมน แซคส์กล่าว