ธนาคารกลางอินโดนีเซียเล็งผ่อนปรนกฎระเบียบด้านสินเชื่อ หลังเศรษฐกิจชะลอตัวยาว

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 7, 2009 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางอินโดนีเซียเตรียมผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวกับหนี้เสีย เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารต่างๆเพิ่มการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอินโดนีเซียชะลอตัวแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี

ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียกล่าวว่า ธนาคารกลางอาจจะยกเลิกกฎระเบียบที่บังคับให้ธนาคารต่างๆแบ่งประเภทเงินกู้ที่มีปัญหา หากธนาคารเหล่านี้วางแผนที่จะปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งในปีนี้คาดว่า หนี้เสียจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ธนาคารต่างๆกลับบ่นว่า แนวทางดังกล่าวไม่ยุติธรรม สิ่งที่ธนาคารต้องทำคือ การคาดการณ์เรื่องหนี้เสีย เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น ดังนั้นธนาคารมองว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

ธนาคารกลางอินโดนีเซียซึ่งพยายามอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกนั้น ต้องการให้การขยายตัวของการปล่อยเงินกู้สูงถึงอย่างน้อย 15% ในปีนี้ หลังจากที่ขยายตัว 31% เมื่อปีที่แล้ว

โจฮานส์ แบมบัง เคนดาร์โต ผู้อำนวยการของพีที แบงค์ เมก้า กล่าวว่า ธนาคารกลางควรจะเดินหน้าต่อไปและเปลี่ยนคำนิยามของหนี้เสีย เพื่อบรรเทาแรงกดดันที่ธนาคารต่างๆแบกรับอยู่ หนี้เสียในอินโดนีเซียถูกจัดประเภทให้เป็นหนี้ ซึ่งไม่ต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นระยะเวลามากกว่า 90 วัน โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียได้แบ่งประเภทเงินกู้ระยะเวลามากกว่า 180 วันว่าเป็นหนี้ที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้

บลูมเบิร์กรายงานว่า รูสเนียที ซาลีฮิน รองประธานพีที แบงค์ พัน กล่าวว่า การชำระดอกเบี้ยสายอาจจะนำไปสู่การลดอันดับหนี้เสีย ความเสี่ยงด้านการปล่อยกู้สามารถวัดได้โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ความยืดหยุ่นในการดำเนินกิจการ สภาพคล่อง และแนวโน้มของธุรกิจ ซึ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ปัจจัยดังกล่าวอาจจะคลุมเครือ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ