ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านแบงก์พาณิชย์มีข้อจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 8, 2009 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นต่อการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในวันนี้ว่า แม้จะช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินและเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน แต่ประสิทธิผลของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไปสู่ระบบเศรษฐกิจ อาจเป็นไปได้อย่างจำกัด เพราะเครื่องมื่อทางการเงินที่ธปท.ใช้ในการส่งผ่านนโยบาย ยังคงดำเนินการผ่านช่องทางของระบบธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก

ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะซบเซาของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ การขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังจากที่ภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่ยังคงมีอยู่สูง ก็อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงเพิ่มความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อเช่นกัน

นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อาจปรับตัวเข้าหาจุดต่ำสุดก่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.นั้น อาจทำให้กลไกการส่งผ่านของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.มายังอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไปไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เช่นกัน ทั้งนี้ สภาพคล่องที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงของธนาคารพาณิชย์นั้น ได้กดดันให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้วในขณะนี้

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยืนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์กำลังเบียดระดับร้อยละ 0 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่กำลังเคลื่อนเข้าหาจุดต่ำสุดนี้ อาจสร้างโจทย์ที่ซับซ้อนให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในการดูแลรักษาสภาพคล่องในระยะถัดไป เมื่อช่องทางการออมในรูปแบบอื่นเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ขณะที่แถลงการณ์หลังการประชุมกนง. ยังคงสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยจากความไม่แน่นอนของวิกฤตการเงินโลกที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศหลักและประเทศในภูมิภาคหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ อุปสงค์ของภาคเอกชนยังมีความอ่อนแออยู่ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อาจช่วยชดเชยอุปสงค์ของภาคเอกชนที่ลดลงได้บ้าง

ทั้งนี้ กนง.ระบุเพิ่มเติมว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปยังอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยง ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเอื้อให้นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายเพื่อพยุงเศรษฐกิจและกระตุ้นการฟื้นตัวในระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าท่ามกลางแนวโน้มการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจทั่วโลก การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับสัญญาณความอ่อนแอของการใช้จ่ายในประเทศจากปัญหาการว่างงาน การถดถอยลงของความเชื่อมั่นภาคเอกชน ตลอดจนความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองนั้นยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเศรษฐกิจไทยอาจยังคงหดตัวลง 3.8-4.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 52 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีปัจจัยบวกจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และแรงหนุนจากการเคลื่อนตัวอยู่ในแดนลบของอัตราเงินเฟ้อก็ตาม

ทั้งนี้ ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 52 ดังกล่าว จะยังคงเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในระยะถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ