นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% อาจจะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเงินกู้ของประชาชนและภาคธุรกิจลดลง แต่ปัญหาการให้สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยหรือสภาพคล่องในระบบ แต่เป็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ควรจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อ หรือการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) และไม่ควรกังวลถึงการเกิดปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)มากจนเกินไป เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานกำกับดูแลมีบทเรียนจากอดีตแล้ว ดังนั้นจึงสามารถที่จะเรียนรู้ว่าควรจะมีการผ่อนคลายในจุดใดได้บ้างโดยไม่มีความเสี่ยง และไม่เสียหลักการสำคัญ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง
"การลดดอกเบี้ยไม่ได้ทำให้คุณภาพสินเชื่อดีขึ้นหรือทำให้กฎกติกาต่างๆ ผ่อนคลาย แต่การลดดอกเบี้ยเงินกู้ทำให้ต้นทุนถูกลง การลดดอกเบี้ยจะมีผลมากเมื่อดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำ ดังนั้นการขยายสินเชื่อก็ยังมีปัญหา ซึ่งไม่ได้เกิดจากดอกเบี้ย"นายศุภรัตน์ กล่าว
ปลัดกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ให้ภาคสถาบันการเงินในภูมิภาคอาเซียนเตรียมพร้อมเพิ่มทุนรองรับวิกฤติเศรษฐกิจโลกว่า ขณะนี้ภาคสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง และยังมีความพร้อมเรื่องเงินทุน เพียงแต่จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นและกลายเป็นผลกระทบในวงกว้าง ทุกประเทศจึงต้องเตรียมมาตรการต่างๆ รองรับ และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การทำอย่างไรที่จะให้ภาคสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเองด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐได้ผลักดันการให้สินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านกลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งบางแห่งได้มีการเพิ่มทุนให้แล้วเพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่บางแห่งต้องพิจารณาตามกระบวนการและความเหมาะสม
"การเพิ่มทุนแบงก์เป็นสิ่งที่ทุกคน สถาบันการเงิน ควรดูล่วงหน้าว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจ และผลกระทบเหล่านี้จะมีผลต่อระดับ เงินทุน NPL การกันสำรอง และผลขาดทุนอย่างไร...สิ่งที่ต้องดู คือดูตัวเอง หรือจะมีการถกกันอย่างเป็นระบบ"ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว