นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% นั้น ถือว่าช่วยผ่อนคลายต้นทุนให้แก่ภาคการผลิต และยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้แก่ให้ผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง แต่ กนง.ยังสามารถใช้นโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ต่อเนื่องอีกไปจนถึงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75%
ขณะที่การดูแลค่าเงินบาทนั้น หากทางการสามารถดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ก็จะช่วยในเรื่องของการส่งออกและการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และน่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในไตรมาส 4 ฟื้นมาอยู่ที่ 2-3% ได้
"สัญญาณการส่งออกน่าจะเริ่มดีในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าทำเงินบาทให้อยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่ทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานที่การเมืองมีเสถียรภาพ และไม่ได้เป็นรัฐบาลรักษาการณ์" นายธนวรรธน์ กล่าว