หอการค้าฯเตือนรัฐเร่งคลี่คลายสถานการณ์ก่อนเสี่ยงศก.ทรุดยาวถึงกลางปี 53

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday April 11, 2009 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจนกระทั่งต้องเลื่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนและคู่เจรจาเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลทางจิตวิทยาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของประเทศ การท่องเที่ยว รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจ

ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากแค่ไหน เพราะหากเราคลี่คลายได้ไม่รวดเร็วหรือไม่เต็มที่พอ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวไตรมาส 4/52 ต้องเลื่อนออกไปเป็นกลางปีหน้า (ปี 53) และจะเกิดความเสี่ยงในการสูญเสียรายได้กว่า 1 แสนล้านบาททั้งจากการท่องเที่ยวและการลงทุนทั่วไป

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ หลายฝ่ายนึกไม่ถึงว่าจะมีการเคลื่อนตัวของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเข้าไปจนถึงสถานที่จัดการประชุม แต่กลับมีการบุกเข้าไปถึงจุดที่มีการแถลงข่าว ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์เชิงลบ แม้ว่าผู้ชุมนุมไม่ได้คัดค้านการประชุม แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการเมืองภายใน

จากนี้สิ่งสำคัญที่จะต้องติดตามต่อไปคือสถานการณ์ต่าง ๆ จะคลี่คลายอย่างไร แต่เชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศคงจะพยายามชี้แจงทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ซึ่งผู้นำนานาชาติก็เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหวังว่าสื่อต่างประเทศจะรายงานข่าวด้วยความเข้าใจ แต่ภาพที่เกิดขึ้นก็ทำให้อดห่วงความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะหลังจากมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะเกิดผลกระทบทันทีที่จะทำให้การท่องเที่ยวลดลง

ส่วนในด้านภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็นประธานอาเซียนที่ได้รับโอกาสทำหน้าที่ผู้นำการประชุม ทำให้สุญเสียโอกาสการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของไทย รวมทั้ง การเดินหน้ากรอบการเจรจากับประเทศคู่เจรจาทั้ง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่จะต้องถูกชะลอออกไป รวมถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียนด้วยกัน แต่ประเด็นนี้หากสามารถจัดการประชุมได้ภายใน 2-3 เดือนก็เชื่อว่ายังสามารถเยียวยาได้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อลดความสูญเสียต่อประเทศไทย เพราะหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อก็จะทำให้เศรษฐกิจติดลบมากขึ้นและฟื้นตัวช้า ซึ่งจะกระทบกับทุกฝ่ายค่อนข้างแรง ทั้งสองฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากันใช้กรอบของสภาแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ และจะต้องเป็นหนทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดผลกระทบเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ