นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เรียกหารือกับสำนักงบประมาณในวันนี้ เพื่อพิจารณากรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 ซึ่งเป็นการประชุมวาระปกติตามปีปฏิทินงบประมาณ แต่คาดว่าจะพูดคุยกันถึงปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจำเป็นต้องทบทวนตัวเลขการจัดทำงบประมาณปี 53 ใหม่
"ข้อเท็จจริงคือรายได้หดไปอีกแน่นอน เพราะกำลังซื้อหายหมด กำลังซื้อมากับความเชื่อมั่น คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย รายได้จากการท่องเที่ยวคงลดลงแน่นอน เพราะฉะนั้นภาษีในรูปแบบต่างๆ ที่เราคาดว่าจะเก็บได้ในปีนี้ก็ต้องต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ดังนั้นการที่เราได้รับอนุมัติงบประมาณปี 53 จากครม.ก็ต้องปรับปรุงใหม่...เดิมเราประมาณการรายได้ไว้ แต่เหตุการณ์มันเปลี่ยนใหม่หมด เราจะดันทุรังเอาตัวเลขเดิมไปเสนอสภาฯ คงไม่ได้"นายกอร์ปศักดิ์ ระบุ
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.พ.52 ได้อนุมัติกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์รายรับไว้ที่ 1.51 ล้านล้านบาท
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะได้หารือกันว่ารัฐบาลจะต้องหาเงินรายได้จากแหล่งใดเพื่อมาทดแทนประมาณการณ์รายได้ที่คาดว่าจะหดหายไปมากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังยืนยันว่าโครงการลงทุนยังจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไปไม่ควรจะปรับลดลง ส่วนการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นคงต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ เพราะการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นไม่ได้ช่วยทำให้รายได้ของภาครัฐเพิ่มขึ้นเสมอไป
"การเก็บภาษีเพิ่มไม่ได้แปลว่าจะเพิ่มรายได้เสมอไป จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่ ของแพงคนอาจไม่ซื้อ แต่ที่เราดูคือ เรื่องค่าใช้จ่าย มีอะไรที่เกินไป ไร้สาระ ก็จะตัดออกให้หมด เพราะมันอยู่ในสถานการณ์ที่เราจะฟุ่มเฟือยใช้จ่ายโดยไม่ระวังหน้าระวังหลังคงไม่ได้ คงต้องไปดู" นายกอร์ปศักดิ์ ระบุ พร้อมยืนยันว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะไม่มีปัญหาเรื่อง cash flow เนื่องจากบางหน่วยราชการยังมีการใช้เงินกู้ไม่เต็มวงเงินที่ได้ขออนุมัติไว้
รองนายกรัฐมนตรี มองว่า การใช้นโยบายการคลังสำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 52 ค่อนข้างจะตึงแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ยังพอจะช่วยได้คือนโยบายการเงิน โดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว
"เราฝืนธรรมชาติไม่ได้ ต้องดูรอบด้านด้วย วันนี้เราเกินดุลแบบน่าตกใจ การเกินดุลแบบน่าตกใจเพราะไม่มีใครสั่งซื้ออะไรเข้ามา เพราะฉะนั้นจะยิ่งทำให้บาทแข็งขึ้นไปอีก ขณะที่เพื่อนบ้านอ่อนกันหมด อย่างนี้เราก็แย่ เขาเป็นอย่างไร เราก็ควรเป็นอย่างนั้น" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว