นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ และส่งผลให้ฟิทช์เรทติ้งส์ ปรับลดอันดับเครดิตตราสารสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR)ของไทยลงจาก BBB+ เป็น BBB และลดอันดับเครดิตสกุลเงินบาทระยะยาวลงสู่ระดับ A- จากเดิม A นั้น ยอมรับว่า ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินของในตลาดต่างประเทศบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากยังเป็นการปรับลดเครดิตเรทติ้งจากสถาบันเดียว แต่มีความกังวลหากสถาบันจัดอันดับเครดิตแห่งอื่น ๆ จะพิจารณาปรับลดเครดิตของประเทศลงอีก
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ตลาดกู้เงินต่างประเทศค่อนข้างปิด ขณะที่การกู้เงินในประเทศมีต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่าและยังมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับได้
"ตอนนี้มีเพียงฟิทช์ฯ แห่งเดียวที่ downgrade ตราสารหนี้สกุลต่างประเทศของเรา ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนกู้เงินสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่มากขึ้นอยู่กับตลาดโลก ส่วน S&P เป็นการ downgrade ตราสารหนี้สกุลเงินบาท ซึ่งไม่มีผล แต่ก็ต้องติดตามต่อ เพราะตอนนี้ต่างชาติกำลังจับตาดูเราอยู่ โดยเฉพาะมูดี้ส์ที่ยังไม่มีท่าทีใดๆ"นายพงษ์ภาณุ กล่าว
ทั้งนี้ การปรับลดเครดิตของฟิทช์ไม่ได้มีผลต่อแผนการกู้เงินของไทยจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ทั้งธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย(เอดีบี) และไจก้า เพราะองค์กรเหล่านี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นมาตรฐานอยู่แล้วไม่ได้ขึ้นกับอันดับเครดิต เช่น ไจก้า ที่มีดอกเบี้ย 1.4% ระยะเวลาชำระหนี้ 25 ปี ซึ่งไทยมีแผนจะกู้เงินในระยะต่อไปเพื่อใช้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแค และการกู้เงินก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า หลังจากไทยถูกปรับลดเครดิตแล้ว เชื่อว่าการเดินทางชี้แจงข้อมูลแก่นักลงทุนต่างประเทศ(โรดโชว์) ของรัฐมนตรีและฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากปัญหาการเมืองเป็นหลัก ขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการเงินที่ยังเข้มแข็ง