In Focusเสียงต่างชาติวิเคราะห์สารพัดม็อบพ่นพิษเศรษฐกิจไทย ฟันธง "เผาจริง เจ็บจริง"

ข่าวต่างประเทศ Friday April 17, 2009 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุณหภูมิร้อนปรอทแตกทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ทำให้ชื่อของประเทศไทยปรากฏหราอยู่บน Front Page ในเว็บไซท์ของสื่อต่างประเทศทุกแห่ง รวมถึงเอพี เอเอฟพี ซีเอ็นเอ็น บีบีซี เอ็นเอชเค รอยเตอร์ บลูมเบิร์ก ซินหัว และเกียวโด นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ปีพ.ศ.2549 จนมาถึงเหตุการณ์รุนแรงการเมืองครั้งล่าสุด ประเทศไทยก็ถูกสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ต่างชาติหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างคึกโครม โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 1,000 คนบุกโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ชาติ ส่งผลให้การประชุมยุติลงและทำให้รัฐบาลผ่าทางตันด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน สร้างความตื่นตระหนกให้กับแขกบ้านแขกเมืองถ้วนหน้า

ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ลากเอาเศรษฐกิจแทบจะทุกภาคส่วนเข้าไปเกี่ยวพันด้วยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ถูกกระทบอย่างหนักหนาสาหัส เพราะแต่ไหนแต่ไรมาประเทศไทย รวมถึงเมืองพัทยา สามารถเก็บเกี่ยวเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นกอบเป็นกำ เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 6%ของตัวเลขจีดีพีถูกสั่นคลอน ธุรกิจในภาคส่วนอื่นๆย่อมถูกกระทบชิ่งตามไปด้วย เหตุการณ์รุนแรงที่ลุกลามจนกลายเป็นการจลาจลครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์ในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ อีกทั้งยังซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงอยู่แล้วจากวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

เปิดศักราชปีวัว 2552 ตลาดหุ้นไทยคึกคักเหมือน "โคถึก" ขานรับข่าวที่ว่า มาร์ค โมเบียส ผู้จัดการกองทุนชื่อดังและประธานบริษัท เทมเพลตัน แอสเส็ท เมเนจเมนท์ รุกซื้อหุ้นในตลาดเกิดใหม่ทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงหุ้นในบริษัทของไทย อาทิ บมจ.ปตท.(PTT), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่าการที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายจะช่วยกระตุ้นรายได้และอัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศของไทยได้อย่างแข็งแกร่ง จากนั้นไม่นาน นายโต๊ะ ฮุน ชิว นักวิเคราะห์จาก CIMB-GK Research แนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นของบริษัทในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สองของปี 2552 เนื่องจากมีมูลค่าน่าจูงใจ ...ไม่ต้องหลับตาก็นึกภาพออกว่าภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยจะคึกคักจนฝุ่นตลบแค่ไหน

แต่เวลาผ่านไปไวเหมือนติดปีก เมื่อนาวาเศรษฐกิจของไทยลอยลำเข้าสู่ไตรมาสที่สอง ผ่านคลื่นร้อนระอุทางการเมืองจนซวนซัดซวนเซมาถึงช่วง "สงกรานต์เดือด" นายมาร์ค โมเบียสคนเดียวกันนี้ ก็ลุกขึ้นวิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศไทยอีกครั้ง โดยฟันธงเปรี้ยงปร้างว่าวิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในความเสี่ยง นอกเสียจากว่ารัฐบาลจะเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและฟื้นฟูการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง แต่เนื่องจากนายโมเบียสลงทุนในตลาดหุ้นไทยมานานกว่า 20 ปี จึงแสดงความเชื่อมั่นผ่านสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กว่า ตราบใดที่ประเทศไทยดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาก็เชื่อว่าไทยจะมีทางออกอยู่เสมอ และเขายังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มระยะยาวและปัจจัยพื้นฐานของไทย

จากนั้นไม่นาน มาร์ค ฟาเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนชื่อดังระดับโลกและเป็นผู้ตีพิมพ์นิตยสารการลงทุน Gloom, Boom and Doom Report ก็ออกมาแสดงความเห็นว่า สถานการณ์ด้านการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้ทำให้นักลงทุนไม่ค่อยกล้าเข้ามาลงทุน และอาจทำให้กลุ่มผู้จัดการกองทุนที่มีพอร์ทอยู่ในตลาดหุ้นไทย "เทขาย" หลักทรัพย์ ฟาเบอร์มองว่า เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมากเป็นพิเศษ เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนสูงถึง 12% ของกิจกรรมโดยรวมทางเศรษฐกิจ

เสียงวิเคราะห์ของฟาเบอร์ผู้โด่งดังยังไม่ทันจาง นักวิเคราะห์จาก Cazenove Asia Ltd ก็แสดงความเห็นว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะส่งผลในด้านลบต่อตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ การชะลอตัวลงของตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะยิ่งทำให้ตัวเลขเงินกู้หนี้เสียของไทยพุ่งสูงขึ้น วิเคราะห์เท่านั้นยังไม่พอ ยังฝากรักไว้ด้วยการแนะนำให้นักลงทุน 'เทขาย' หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ หุ้นธนาคารกรุงไทย (KTB) ตามด้วย ดาห์เน รอธ นักวิเคราะห์ด้านหลักทรัพย์จาก ABN Amro Private Bank ที่ขอพูดบ้างว่า ภาวะผันผวนทางการเมืองในประเทศไทยจะส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประเมินว่าเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้จะทำให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจต่อตลาดหุ้นไทยน้อยมาก

ไม่นานนัก มาร์ติน โฮเฮนซี นักวิเคราะห์จากดอยช์ แบงค์ ก็ออกมาแสดงความเห็นว่า "แม้รัฐบาลไทยสามารถพลิกสถานการณ์ให้กลับขึ้นมาเป็นต่อได้อย่างรวดเร็ว แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนไปแล้ว สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลในด้านลบต่อค่าเงินบาทเพราะไทยสูญเสียเม็ดเงินจากธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก" ....อยากจะบอกว่า ไม่ต้องแย่งกันวิเคราะห์ก็ได้ แค่นี้หัวใจก็ห่อเหี่ยวแล้ว

ในฟากของสื่อมวลชนต่างชาตินั้น โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์รุนแรงในประเทศไทยครั้งนี้ไม่มีผู้ใดได้รับชัยชนะทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงและฝั่งรัฐบาล เพราะภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้ประท้วงเองก็ติดลบในสายตาของประชาชน ในขณะที่ทางรัฐบาลสามารถดึงเอาอำนาจกลับคืนมาได้ด้วยการสลายม็อบที่ประสบความสำเร็จของทหาร แต่โจนาธาน เฮดยังกล่าวยืนกรานอีกว่า เหตุการณ์รุนแรงรอบนี้ทำให้คำมั่นสัญญาของรัฐบาลที่ว่าจะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น กลายเป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่า

ขณะที่คอลัม เมอร์ฟี่ ผู้ช่วยบรรณาธิการฟาร์อีสเทิร์น อีโคโนมิก รีวิว เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงตีพิมพ์ใน เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่า การวางแผนระยะยาวจะช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวขึ้นทั้งทางด้านการเมืองและทางเศรษฐกิจ แต่หากรัฐบาลยืดระยะเวลาที่เจ็บปวดให้ยาวออกไป จะทำให้ยากแก่การแก้ปัญหาความแตกแยกและเป็นอุปสรรคต่อการนำประเทศไปสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวสูงขึ้นในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลจากรายได้การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่ลดลง ตลอดจนเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์หดหายไป นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในด้านการลงทุนที่มีการชะลอออกไปในภาวะที่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ. 2552 จะหดตัวลงประมาณ 3.5-6.0% จากเดิมคาดว่าจะหดตัว 1.5-3.5%

ด้านบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็ไม่ยอมเสียตำแหน่ง "ขาประจำ"... สับเปลี่ยนกันมาหั่นเครดิตประเทศไทยหลังเกิดความโกลาหลทางการเมืองได้ไม่นาน จนล่าสุด ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) ลงสู่ระดับ BBB จากเดิม BBB+ และลดอันดับเครดิต IDR สกุลเงินบาทระยะยาวลงสู่ระดับ A- จากเดิม A โดยระบุว่าการลดอันดับเครดิตครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความน่าเชื่อถือที่ถดถอยลงของประเทศไทยซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์จลาจลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยยืดเยื้อและผันผวนมากขึ้นไปอีก

ฟิทช์ระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกปฏิวัติโค่นอำนาจ จากนั้นได้เกิดการแบ่งขั้วเลือกข้างมาโดยตลอดเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมประนีประนอม สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ฟิทช์มองว่าปัญหาการเมืองในประเทศไทยจะยังไม่สามารถแก้ไขได้และคาดว่าเหตุการณ์จลาจลจะยังไม่สงบลงในระยะนี้

ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเพียงการประมวลกระแสวิเคราะห์ของคนต่างชาติทั้งในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ สื่อมวลชน และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่สำหรับคนไทยคงมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่าง "ทำใจ" เพราะไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน เราผจญมาแล้วทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่พายุไต้ฝุ่นและสึนามิ เราผ่านยุคสมัยของการลดค่าเงินบาทและวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในนามของ"วิกฤติต้มยำกุ้ง"ที่หลายฝ่ายเคยกลุ้มใจแทนเราว่า...ไทยจะไปไม่รอด แต่เราก็รอดทุกครั้ง นั่นเป็นเพราะคนไทยตระหนักในความจริงข้อหนึ่งเหมือนกับที่ฝรั่งมังค่าอย่างนายมาร์ค โมเบียส รู้ซึ้งว่า "ตราบใดที่ประเทศไทยดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศไทยจะมีทางออกอยู่เสมอ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ