ผู้ว่าฯธนาคารกลางยุโรปคาดศก.เริ่มฟื้นตัวปีหน้า-แย้ม ECB อาจใช้มาตรการอื่นนอกเหนือจากลดดบ.

ข่าวต่างประเทศ Sunday April 19, 2009 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฌอง-คล้อด ทริเชต์ ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้เริ่มส่งสัญญาณว่ามาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และคาดว่าเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวได้ในปี 2553 พร้อมกันนี้ยังเผยว่า ธนาคารฯอาจพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ยและการใช้มาตรการที่ต่างออกไปจากเดิมในการประชุมเดือนหน้า

"ผลสำรวจบางชิ้นทำให้เราเริ่มมองเห็นว่าเศรษฐกิจหลายที่ ซึ่งรวมถึงยุโรป กำลังหยุดถดถอย" ทริเชต์กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเกียวโด "แต่ปัจจัยดังกล่าวก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่าปี 2552 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสมาก"

ผู้ว่าการอีซีบีกล่าวด้วยว่า ขณะที่ทั่วโลกต้องจัดการกับความเชื่อมั่นที่หดหายไปท่ามกลางวิกฤตการเงิน แต่เศรษฐกิจก็อาจกลับมาเข้าที่เข้าทางได้ในปีหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ประกอบกับการกลับคืนสู่สภาพปกติของบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

การแสดงความเห็นของนายทริเชต์มีขึ้นในขณะที่อีซีบีกำลังพยายามหาทางพยุงเศรษฐกิจยูโรโซน หรือ กลุ่มประเทศยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวลงถึง 4.1% ในปีนี้

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือน ธนาคารกลางยุโรปเพิ่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% แตะที่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการใช้เงินยูโรเมื่อปี 2542 โดยทริเชต์กล่าวย้ำว่า การลดอัตราดอกเบี้ยยังคงเป็นหนึ่งในมาตรการที่ทางธนาคารพิจารณา แต่มองว่าการลดดอกเบี้ยจนเหลือ 0% ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมนัก และกล่าวว่าอีซีบีจะหารือถึงแนวทางอื่นๆที่แตกต่างออกไปในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 7 พ.ค.นี้ แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียด

ด้วยเหตุที่ธนาคารกลางต่างๆใช้มาตรการลดดอกเบี้ยจนลงมาใกล้ 0% แล้ว ดังนั้นจึงเริ่มมีการมองหาวิธีการอื่นๆเพื่อใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่การใช้จ่ายทำได้อย่างจำกัด ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอังกฤษใช้วิธีซื้อพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นซื้อตราสารจากสถาบันการเงินต่างๆเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ