ผลจัดเก็บรายได้รัฐบาล 6 เดือนแรกปีงบ 52 ต่ำกว่าเป้าเฉียด 1 แสนล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 20, 2009 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในเดือน มี.ค.52 สามารถจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 104,371 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 11,110 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.6%

"แม้ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 ที่ต่ำกว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง และการดำเนินมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณ 52 ต่ำกว่าประมาณการ ที่ตั้งไว้ที่ 1.604 ล้านล้านบาทแน่นอน แต่กระทรวงการคลังจะดูแลฐานะทางการคลังและการบริหารเงินสดของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเบิกจ่ายมีความต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" นายสมชัย ระบุในเอกสารเผยแพร่

โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 11,641 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.4% เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าต่ำกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้การเก็บอากรขาเข้าได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,325 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28.5%, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,941 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% เนื่องจากจัดเก็บจากฐานเงินเดือนและค่าจ้างต่ำกว่าประมาณการ และภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,614 ล้านบาท หรือคิดเป็น 48.9% แต่พบว่าจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสุราได้สูงกว่าประมาณการ 1,593 ล้านบาท หรือคิดเป็น 43.7% เนื่องจากข่าวการปรับขึ้นอัตราภาษีทำให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้า

ทั้งนี้ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52(ต.ค.51-มี.ค.52) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 559,234 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 98,277 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.9% เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลัก และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าประมาณการ และการคืนภาษีของกรมสรรพากรที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ

โดยกรมสรรพากรจัดเก็บได้รวม 447,795 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 46,941 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.5% ซึ่งมาจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ต่ำกว่าประมาณการ 45,925 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.6% จากการนำเข้าและการบริโภคในประเทศลดลง, การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่ำกว่าประมาณการ 8,069 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% จากภาษีที่จัดเก็บจากฐานเงินเดือน ค่าจ้าง และการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต่ำกว่าประมาณการ ส่วนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ

กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้รวม 121,929 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 33,832 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21.7% ซึ่งมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ต่ำกว่าประมาณการถึง 20,931 ล้านบาท หรือคิดเป็น 47.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ, ภาษีรถยนต์ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 9,608 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29.5% เนื่องจากประชาชนชะลอการซื้อสินค้าคงทน และสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น

กรมศุลกากรจัดเก็บได้รวม 41,437 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,663 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.3% เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่า ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเป็นสำคัญ

ขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจมีทั้งสิ้น 29,969 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,327 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.1% จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ขอเลื่อนการนำส่งรายได้เข้ารัฐ, บมจ.ทีโอที ยังไม่สามารถนำส่งเงินปันผลได้ ขณะที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) และโรงงานยาสูบนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ

หน่วยงานอื่นนำส่งรายได้รวม 45,561 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,146 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.7% เนื่องจากช่วงต้นปีงบประมาณ การจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมยังได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีรายได้เบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

การคืนภาษีของกรมสรรพากรมีจำนวน 109,962 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,334 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.4% เป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการ 6,734 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ สูงกว่าประมาณการ 3,600 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ