ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่ง เหตุวิตกภาคการเงินหนุนนลท.แห่ซื้อดอลล์

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 21, 2009 07:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและสกุลเงินหลักๆของโลก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตราเมื่อคืนนี้ (20 เม.ย.) เนื่องจากความกังวลเรื่องปัญหาในภาคการเงินส่งผลให้นักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์กและหันมาถือครองสกุลเงินดอลลาร์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้น 0.32% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1687 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1650 ฟรังค์/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลง 1.31% เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 97.830 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 99.130 เยน/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.87% แตะที่ 1.2925 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.3038 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์ร่วงลง 1.74% แตะระดับ 1.4536 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.4793 ดอลลาร์/ปอนด์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 3.48% แตะระดับ 0.6962 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.7213 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 3.07% แตะระดับ 0.5496 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ 0.5670 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

เดวิด โซลิน นักวิเคราะห์จาก Foreign Exchange Analytics กล่าวว่า นักลงทุนแห่เข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์อย่างคับคั่งหลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเกือบ 4% เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคการธนาคารของสหรัฐ หลังจากมีการประเมินว่าการขาดทุนด้านสินเชื่อของซิตี้กรุ๊ปยังคงขยายตัวในอัตราที่รวดเร็ว และข่าวที่ว่าแบงค์ ออฟ อเมริกัน ต้อใช้เงินทุนมูลค่า 1.34 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อชดเชยตัวเลขขาดทุนจากรปล่อยกู้ แม้ธนาคารยืนยันว่ามีกำไรในไตรมาสแรกของปีนี้ก็ตาม

แบงก์ ออฟ อเมริกาเปิดเผยว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 4.24 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสามเดือนแรกปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับจำนวน 1.21 พันล้านดอลลาร์ หรือ 23 เซนต์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ค่าเงินยูโรร่วงลงอย่างหนักเนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรปจะไม่สามารถออกมาตรการมาใช้ป้องกันเศรษฐกิจได้มากพอ ขณะที่ เดนิกา แฮมป์ตัน นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ นิวซีแลนด์กล่าว "สัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนเลวร้ายลงเรื่อยๆซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันในเชิงลบต่อเงินยูโร"

เอ็กเซล เวเบอร์ เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของอีซีบีกล่าวว่า ธนาคารอาจไม่ลดดอกเบี้ยลงต่ำกว่าระดับ 1% ขณะที่เจ้าหน้าที่บางส่วนสนับสนุนความเห็นในการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนด้วยการลดดอกเบี้ยลงต่ำกว่าระดับ 1% และชี้ว่าควรมีการเข้าซื้อตราสารหนี้มากขึ้นเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ