นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน. ได้ปรับแผนการกู้เงินในประเทศของรัฐบาล ในปีงบประมาณ 52 จาก 525,860 ล้านบาท เป็น 619,859 ล้านบาท หลังจาก ครม.ได้อนุมัติวงเงินกู้ เพิ่มอีก 94,000 ล้านบาท เพื่อรองรับกรณีรายจ่ายรัฐบาลสูงกว่ารายได้
สำหรับวงเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นมานั้นรัฐบาลจะออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม 39,030 ล้านบาท พันธบัตรออมทรัพย์ 5,000 ล้านบาท ออกตั๋วเงินคลัง 32,000 ล้านบาท และตั๋วสัญญาใช้เงิน 17,970 ล้านบาท
สบน.ได้ปรับปรุงแผนการกู้เงินในไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 52 โดยรัฐบาลจะนำออกพันธบัตรออกประมูลทั้งสิ้น 101,500 ล้านบาท จากเดิมมีจำนวน 94,500 ล้านบาท เป็นการเพิ่มการออกพันธบัตรรัฐบาล ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว วงเงิน 6,000 ล้านบาท ในวันที่ 27 พ.ค. 52 เพิ่มวงเงินการออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 15 ปี (LB233A) อีกครั้งละ 1,000 ล้านบาท ทำให้การประมูลพันธบัตร ในวันที่ 29 เม.ย. 52 มีวงเงิน 6,000 ล้านบาท และ 24 มิ.ย. 52 จำนวน 7,000 ล้านบาท
ลดวงเงินการออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปี (LB196A) ในวันที่ 30 มิ.ย. 52 ลง 1,000 ล้านบาท เหลือวงเงิน 9,000 ล้านบาท เพิ่มวงเงินคงค้างของตั๋วเงินคลังในไตรมาสที่ 3 อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนจะแปลงเป็นพันธบัตรในไตรมาสที่ 4 วงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท และเพิ่มการออกตั๋วสัญญาใช้เงินในไตรมาสที่ 3 อีกประมาณ 20,000 ล้านบาท
ส่วนการออกพันธบัตรในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 52 รัฐบาลมีแผนการกู้เงิน วงเงินรวม 99,500 ล้านบาท
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า ปีงบประมาณ 52 แผนการกู้เงินของรัฐบาล 619,859 ล้านบาท ประกอบด้วย กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 249,500 ล้านบาท กู้เพื่อขาดดุลงบประมาณกลางปี 97,561 ล้านบาท กู้เป็นวงเงินรายสูงกว่ารายได้ 94,000 ล้านบาท วงเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 175,190 ล้านบาท และ วงเงินเพื่อกู้ต่อ อีก 3,608 ล้านบาท
รูปแบบการกู้เงินของรัฐบาล ในปีงปบระมาณ 52 แยกเป็น การออกพันธบัตรรัฐบาล อายุ 2 ปี - 30 ปี และ พันธบัตรดอกเบี้ยลอยตัว (FRN) จำนวน 366,029 ล้านบาท พันธบัตรออมทรัพย์ จำนวน 10,000 ล้านบาท ตั๋ว P/N จำนวน 78,222 ล้านบาท T-Bill จำนวน 137,000 ล้านบาท และการประกาศเครื่องมือที่จะใช้ระดมทุน อีก 28,608 ล้านบาท