กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยในปีหน้า จากปัจจัยหนุนของอุปสงค์สินค้าส่งออกที่แข็งแกร่ง รวมถึงแผนการใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ไอเอ็มเอฟระบุว่า ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอาจขยายตัวขึ้นได้ 0.5% ในปีหน้า หลังจากที่หดตัวลง 6.2% ในปีนี้ ขณะที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศอุตสาหกรรมจะขยายตัว 0.8% หลังจากที่หดตัวลง 5.6% ในปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจจีน อินเดีย และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆอาจขยายตัวได้ถึง 5.3% หลังจากลดลง 3.3% ในปีนี้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ขณะนี้จีนมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค.และยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (5.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ 7.5% ในปีหน้า ขณะเดียวกันคาดว่าอินเดียจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 5.6% ส่วนสิงคโปร์อาจหดตัวลง 0.1% หลังจากที่ติดลบหนัก 10% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟยังมีความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจเอเชียจะเผชิญความเสี่ยงอีกหลายด้าน หากอุปสงค์ทั่วโลกลดลงอีก และแนะว่าประเทศเหล่านี้ต้องดำเนินการต่างๆมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และสิ่งที่ไอเอ็มเอฟมีความกังวลคือภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงและยาวนานในประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่นอกเอเชีย ซึ่งจะบั่นทอนอุปสงค์จากต่างประเทศให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ซึ่งท้ายที่สุดจะสร้างแรงกดดันต่อการส่งออก การลงทุน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟระบุว่า ปัญหาท้าทายใหญ่หลวงจะอยู่ที่การลดการพึ่งพาการส่งออกอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการกำหนดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่ครอบคลุมถึงการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเอเชียที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเข้า-ส่งออกนั้นได้รับผลกระทบหนักเกินคาดจากวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2473 แม้ว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศจะมีความแข็งแกร่งกว่าในช่วงที่เอเชียเผชิญวิกฤตการเงินในภูมิภาคเมื่อปี 2540 ก็ตาม